เรียบเรียงโดยศูนย์การลดต้นทุน
ระบบ e-logistics หมายถึง ระบบที่ทำหน้าที่จัดสรรให้ปัจจัยต่างๆเข้ามาสู่การผลิตและนำสินค้าไปส่งถึงยังลูกค้า โดยมีการติดต่อและจัดส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุด สะดวกที่สุด ประหยัดค่าขนส่งที่สุด และเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด
E – Logistics มีอะไรบ้างที่ใช้อยู่
1. PMS (Parking Management System) : การจัดการการขนส่งทางรถ ตั้งแต่การรับคำสั่ง การวางแผน การจ่ายงาน การเก็บประวัติรถและพนง.รวมถึงการวางบิล
2. WMS (Warehouse Management System) : ระบบบริหารคลังสินค้า การรับสินค้า การจัดเก็บ การจ่ายสินค้า
3. Phase Management System : ระบบบริหารการขนส่ง เป็นการเจาะเน้นค่าบริหารการขนส่งในแต่ละรูปแบบ
4. CMS (Contianer Yard Management System) : รูปแบบการจัดการกับลานตู้ Container
5. SMS (Ship Management System) : การจัดการสินค้าในเรือ เพื่อให้การขนถ่ายมีประสิทธิภาพ
6. MMS (Maintenance Management System) : การบริการการจัดการการซ่อมบำรุง ควบคุมอะไหล่ ปริมาณช่าง ประวัติการซ่อม
7. LMS (Logistics Management System) : เป็นระบบการบริการการจัดการ Logisics ในรูปแบบของ One stop service
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) อันเป็นพลังขับเคลื่อนหลักก่อให้เกิดสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจแนวใหม่ (New Economy) ที่ส่งผลให้ลักษณะและรูปแบบการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันมีองค์ประกอบในเรื่องของความต้องการที่ซับซ้อน ความรวดเร็ว ต้นทุน และข้อเรียกร้องอื่นๆอีกมากมาย ตามความเจริญของการพัฒนาในยุคไร้พรมแดน ในการค้าขายกับต่างประเทศจะต้องมีการเตรียมการและจัดทำข้อมูล-เอกสารต่างๆจำนวนมากให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออก และขนส่งตามข้อกำหนด ทั้งเอกสารคำขอและเอกสารแนบต่างๆจะต้องถูกส่งไปยังหลายหน่วยงานซึ่งมีแบบฟอร์มเอกสารเป็นของตนเอง ด้วยความแตกต่างเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าและค่าใช้จ่ายทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการค้าระหว่างประเทศ (ดังรูปที่ 1)
จากรูปจะเห็นได้ว่าปัญหาในกระบวนการโลจิสติกส์ การนำเข้า-ส่งออกไร้ประสิทธิภาพในด้านข้อมูลเอกสารและการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีหน่วยงานภาครัฐกว่า 28 หน่วยงาน และ 8 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวนแบบฟอร์มที่มีมากถึง 40 แบบฟอร์ม 200 รายการข้อมูล และมีข้อมูลกว่า 60% ที่ต้องกรอกซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เอกสารส่วนใหญ่เป็นกระดาษที่ขาดมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนและบูรณาการข้อมูล วิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ในการจัดการปัญหานี้ คือ การสร้างระบบหน้าต่างเดียวแบบเบ็ดเสร็จ (Single Window Entry) (ดังรูปที่ 2 และ3)
ศูนย์สหประชาชาติเพื่อการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (UN/CEFACT) ได้อธิบายความหมายของ Single Window e-Logistics หมายถึง บริการที่ทำให้ผู้ประกอบการค้าและผู้ประกอบการขนส่ง สามารถดำเนินการด้านข้อมูลและเอกสารได้มาตรฐานตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าการส่งออก และการขนส่ง โดยสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านหน้าต่างบริการจากจุดเดียวกันได้ เมื่อข้อมูลแต่ละรายการเป็นอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การกรอกข้อมูลแต่ละรายการนั้นจะกระทำเพียงครั้งเดียวแต่สามารถดำเนินการตามคำขอนั้นได้หลายงานพร้อมกันและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบงานอื่นๆได้อย่างอัตโนมัติด้วย
การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Enhancement) คือ กระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการเดินทางของเอกสารและข้อมูลข่าวสาร (Information Flows) ไปพร้อมๆกับการเคลื่อนย้ายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นพิธีการทางศุลกากร การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยมีเป้าหมายให้กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกมีความง่าย สะดวก ไม่ซับซ้อน และมีมาตรฐานเหมือนกันมากที่สุด ทั้งนี้ ระบบ Single Window e-Logistics จะเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากระบบSingle Window e-Logistics คือ
1. ลดระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการดำเนินเอกสารเพื่อการนำเข้าและส่งออก
2. ลดต้นทุนในการทำธุรกรรมเพื่อการนำเข้าและส่งออก พบว่า ผลจากการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาจะช่วยลดต้นทุนด้าน โลจิสติกส์ประมาณ 5-10% ของมูลค่าสินค้า
3. ลดจำนวนแบบฟอร์มหรือเอกสารที่ใช้ ในการนำเข้า-ส่งออก (Paper-Less)
สำหรับตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกถึงปัญหาในเรื่องของระยะเวลา จำนวนเอกสารและต้นทุนในการนำเข้า-ส่งออกนั้น ได้ปรากฎในรายงานผลการสำรวจจากธนาคารโลก (World Bank) เรื่องความยาก-ง่ายในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย (Doing Business 2009) ด้านการค้าระหว่างประเทศ พบว่า
การนำเข้า
• ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการนำเข้าทั้งสิ้น 13 วัน ลดลงจากปีก่อน 1 วัน
• จำนวนเอกสาร 3 แบบฟอร์ม ลดลงจากปีก่อน 6 แบบฟอร์ม
• ต้นทุนการนำเข้า (US$ per container) เท่ากับ $795 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน $9
การส่งออก
• ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการส่งออกทั้งสิ้น 14 วัน ลดลงจากปีก่อน 3 วัน
• จำนวนเอกสาร 4 แบบฟอร์ม ลดลงจากปีก่อน 3 แบบฟอร์ม
• ต้นทุนการส่งออก (US$ per container) เท่ากับ $625 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน $10
หากพิจารณาในรายละเอียดตัวชี้วัดดังกล่าว จะพบว่า เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับระยะเวลาในการเตรียมเอกสาร(Document preparation) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57-61% แสดงให้เห็นถึงข้อด้อยในเรื่องของการจัดการด้านข้อมูล แม้ระยะเวลาที่ใช้สำหรับการนำเข้า-ส่งออกจะลดลง แต่ต้นทุนกลับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรือสิงค์โปร์ที่มีต้นทุนเฉลี่ยในการนำเข้า-ส่งออกอยู่ที่ $439-$450
ปัจุบันการพัฒนาระบบ Single Window e-Logistics ของไทยยังเป็นเพียงช่วงของการเริ่มต้นเท่านั้น โดยมีสองหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กรมศุลกากร และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งมีขั้นตอนการพัฒนาและเครื่องมือที่ใช้แต่ละช่วง ดังนี้ 1. วิเคราะห์กระบวนการปัจจุบัน: UN/CEFACT’s Modeling Methodology เพื่ออธิบายกระบวนการทางธุรกิจและข้อมูลต่างๆอย่างมีระบบ 2. นำเสนอกระบวนการใหม่ที่มีการลดความซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพ : ลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนของเอกสาร ปริมาณเอกสารน้อยที่สุด เข้าใจง่าย เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มีรูปแบบสากล รวมทั้งมีความปลอดภัย 3. สร้างความสอดคล้องของข้อมูล (Data Harmonization) 4. จัดทำมาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ 5. สร้างระบบแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและระหว่างประเทศ: เทคโนโลยีที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Electronic Business Extensible Markup Language: ebXML) 6. ระบบการบริหารข้อมูลการขนส่งสินค้าเบ็ดเสร็จที่เต็มรูป
ปัจจุบันกรมศุลกากรได้พัฒนาและปรับปรุงระบบ Single Window E-Customs ทั้งในส่วนของ e-Declaration, e-Payment, e-Manifest และ e-Container ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประสบความ สำเร็จค่อนข้างมาก แต่ก็ยังพบว่าอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาระบบ Single Window e-Logistics ไม่สำเร็จหรือล้มเหลวในภาพรวม คือ การพัฒนาระบบดังกล่าวยังถูกจำกัดอยู่เพียงไม่กี่หน่วยงาน และมิได้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานแต่อย่างใด เนื่องด้วยจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมากถึง 28 หน่วยงาน หรือต่างคนต่างสร้าง Single Window ของตนเองไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร หรือการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ภาคเอกชนต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย
จากระบบดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าแม้
ระยะเวลาหรือจำนวนเอกสารสำหรับการนำเข้า-ส่งออกจะลดลง แต่กลับกลายเป็นต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับเป้าหมายที่วางไว้แต่ต้น ซึ่งส่วนหนึ่งของต้นทุนดังกล่าวอาจเกิดจากความล้มเหลวในระบบ Single Window e-Logistics ที่พัฒนาอย่างเชื่องช้าและไร้ทิศทาง หากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงละเลยปัญหานี้ ในท้ายที่สุดอาจบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนให้ลดลงอย่างแน่นอน แนวทางสำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อให้ระบบดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือ การจัดตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อควบคุมดูแลระบบ Single Window e-Logistics โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น China e-Port Data Center, Singapore’s TradeNet, Hong Kong’s DTTN เพื่อให้การพัฒนาและการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
บรรณานุกรม
“National Single Window & e-logistics รัฐทุ่ม 300 ล้าน สานฝันเป็นจริง” Logistics Digest, http://www.logisticsdigest.com
ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล. 2550. โลจิสติกส์ก้าวย่างประเทศไทยในกระแสโลกาภิวัฒน์. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจWorld Bank. 2009. Doing Business 2009 Country Profile for Thailand. New York, D.C.
UNITED NATIONS. 2005. Recommendation and Guidelines on establishing a Single Window. New York and Geneva.
“ระบบ E-logistics คืออะไร” Logisticafe
http://www.logisticafe.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น