วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรณีศึกษา “เถ้าแก่น้อย”



Guerrilla Marketing: กรณีศึกษา “เถ้าแก่น้อย”
บทความโดย นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
โสภณ    รัตนจันทร์           กิตติพงศ์    แสงเจริญวนากุล
ดนัย      ทรัพย์พิทักษ์ดี     เทพ       นีรนาทภูรี
วุฒิชัย    ชาโญพงษ์          

“จุดเริ่มต้นของชัยชนะไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากเงินลงทุนมหาศาล ในทางกลับกันการหาลู่ทางที่คนอื่นมองข้ามแล้วรุกคืบด้วยความเงียบ เงินลงทุนจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ” นี่คือแนวคิดเล็กๆ ของกลยุทธ์เล็กๆ สำหรับธุรกิจเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จมานักต่อนัก กลยุทธ์ที่ว่านี้หลายๆคนรู้จักกันในนาม “กลยุทธ์การตลาดแบบกองโจร หรือ Guerrilla Marketing”

เถ้าแก่น้อยคืออะไร

บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 5 ปี และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มผลิตสาหร่ายทะเลอบกรอบ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เถ้าแก่น้อย” ภาพลักษณ์ของ เถ้าแก่น้อย คือ อาหารว่าง หรือ ที่เรียกกันว่าขนมขบเคี้ยว ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และนอกเหนือจากรสชาติที่แสนอร่อย ผู้บริโภคยังจะได้รับคุณค่าทางอาหารอื่นๆอีก เช่น เส้นใยอาหาร โปรตีน ธาตุเหล็ก และ แคลเซียม ซึ่งสามารถเรียก เถ้าแก่น้อยอีกอย่างว่า เป็นอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ

ผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อยมาในรูปแบบของอาหารว่างพร้อมรับประทานซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ขณะนี้ได้มีการผลิต สาหร่ายทะเลอบกรอบเถ้าแก่น้อยมี 4 รสชาติ คือ รสคลาสสิค รสเผ็ด รสวาซาบิ รสต้มยำกุ้ง ซึ่งเหมาะกับความชอบของคนไทย ที่ชอบทานรสจัดเป็นผลที่ทำให้ เถ้าแก่น้อย เป็นผู้นำในตลาด ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดสาหร่ายทอดในประเทศไทย เถ้าแก่น้อย มีการกระจายสินค้าอยู่หลายช่องทาง ซึ่งมีทั้งในร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และดิสเคาน์ สโตร์ เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถซื้อมารับประทานได้สะดวก



จุดเริ่มจากตี๋น้อยสู่เถ้าแก่น้อย

จากตี๋น้อยที่มีชื่อเล่นว่า ต๊อบ หรือคุณอิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ ที่มีความสนใจในด้านการค้าขายตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งขายของในเกมส์ออนไลน์ จนมาเปิดแฟรนไชน์สเกาลัด และด้วยความเป็นอาตี๋ที่มีความชอบในการรับประทานสาหร่าย จนเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ตี๋น้อยคนนี้ก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมอาหารว่าง หรือขนมคบเคี้ยว  โดยเลือกสาหร่ายทะเลเป็นสินค้าหลักในการเข้าสู่ตลาด แต่ในการเข้ามาของเถ้าแก่น้อยนั้น เส้นทางนั้นไม่ได้ถูกปูด้วยพรมแดง หรือกลีบกุหลาบอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ก่อนที่เถ้าแก่น้อยจะก้าวมาประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมสาหร่ายนั้น เรียกได้ว่าต้องเผชิญกับปัญหามากมาย

บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด โดยคุณอิทธิพัทธ์ กลุพงษ์วณิชย์ เริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยวเพราะเห็นถึงช่องว่างของสาหร่ายทะเลอบกรอบในตลาดอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว ที่ยังไม่มีคู่แข่งรายใดมีการผลิตและจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หรือมีตราสินค้าหรือ Brand ที่คนทั่วไปรู้จัก คุณต๊อบจึงเริ่มศึกษาวิธีการและแนวทางในการผลิตสินค้าออกมา จากนั้นจึงมองหาช่องทางในการจัดจำหน่าย

 “สมัยก่อนผมไม่มีความรู้อะไรเลย ผมเริ่มต้นผลิตและนำไปฝากขายตามร้านโชห่วย บางร้านก็รับ บางร้านก็ไม่รับ ผมต้องอ้อนวอนจนเจ้าของร้านยอมรับไว้ขาย แต่พอหนึ่งเดือนผ่านไป ผมกลับไปที่ร้านปรากฎว่าสาหร่ายก็ยังวางอยู่ที่เดิม”

คุณต๊อบเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อครั้งแรกเริ่มการเข้าสู่ตลาด และจากเหตุการณ์นี้เองทำให้คุณต๊อบคิดได้ว่า ด้วยช่องทางที่เข้าไม่ถึงผู้บริโภคอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขายไม่ได้ และช่องทางที่ได้ติดต่อในตอนแรกนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภครู้จักตราสินค้าของเค้าได้

“แต่ถ้าจะให้ลงทุนหลายล้านบาททำโฆษณาก็คงจะไม่คุ้ม และจะทำอย่างดีหละที่จะทำให้คนรู้จักได้กว้างขวางและรวดเร็ว”

แนวคิดเริ่มแรกของคุณต๊อบที่จะสู้ต่อไปหลังจากผิดหวังกับการวางขายตามร้านโชห่วย ด้วยแนวคิดนี้เองทำให้คุณต๊อบเริ่มเข้าหาช่องทางที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนั่นคือร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชั่วโมง หรือ 7-eleven นั่นเอง โดยการเลือกเข้าไปขายใน 7- eleven นี้เองเป็นการประหยัดงบประมาณกว่าถ้าจะสร้างการรับรู้ด้วยการทำโฆษณาที่ต้องสูญเสียเงินมหาศาลซึ่งผลตอบรับก็อาจจะยังไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ก้ได้ นอกจากนี้การนำสินค้าเข้า 7- eleven ก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานตัวสินค้าเถ้าแก่น้อยเองด้วย นับได้ว่าเป็นแนวทางการใช้กลยุทธืแบบกองโจรวิธีหนึ่งที่คำนึงถึงงบประมาณที่มีอย่างจำกัด และเป็นการใช้ช่องทางเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันและผู้บริโภครับรู้ได้ด้วยความรวดเร็ว

แต่ในการที่จะเข้า 7- eleven นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมาตรฐานในการวางจำหน่ายที่มีอยู่สูงมากทำให้คุณต๊อบต้องมีการคิดโดยรอบคอบและปรับเปลี่ยนทัศนคติหลายๆอย่าง คุณต๊อบกล่าวว่า “เดิมทีแพคเกจของเถ้าแก่น้อยดูไม่น่าซื้อและออกแบบน่าเกลียด สินค้า OTOP บางอย่างยังมีรูปแบบที่ดีกว่าเสียอีก แต่ถ้าจะไปทำแบบสินค้าประเภทมันฝรั่งเช่น Lay’s คงทำไม่ได้ เพราะต้นทุนสูง” แต่ภายหลังจากการค้นหาข้อมูลทางคุณต๊อบได้เปลี่ยนทัศนคติใหม่ “ผมเริ่มหาข้อมูลโดยการเรียนรู้และค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้วการทำแพคเกจคล้ายกับ Lay’s นั้นไม่ได้ลงทุนสูงอย่างที่คิด มันมีทางเลือกมากมายหลากหลาย” ด้วยเหตุนี้เองคุณต๊อบจึงได้การเปลี่ยนแปลงแพคเกจให้ดูน่าซื้อมากขึ้น และคิดใหม่ว่า

“จริงๆแล้วสินค้าเถ้าแก่น้อยนั้นสามารถพัฒนาได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น สินค้าเก็บได้อาทิตย์เดียว ทำอย่างไรจะเก็บได้ 6 เดือน คำตอบก็คือการเปลี่ยนแพคเกจนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของเถ้าแก่น้อยดูดีขึ้นแล้วการเก็บรักษาก็ยังดีขึ้นด้วย”

จากการที่คุณต๊อบ ปรับเปลี่ยนรูปแบบต่างๆของเถ้าแก่น้อยและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าเถ้าแก่น้อยจนได้มาตรฐานตามที่  7-eleven วางไว้ในการรับสินค้าวางขาย เถ้าแก่น้อยจึงได้สอดแทรกเข้าไปในกลุ่มอาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว ในกลุ่มเดียวกันกับ มันฝรั่งเลย์ และเทสโต ซึ่งทำให้ลูกค้า เกิดความเข้าใจว่า สาหร่ายทะเลอบกรอบของเถ้าแก่น้อย อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ที่สามารถซื้อรับประทานได้ตลอดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาส สำหรับทานเล่น งานเลี้ยง ปาร์ตี้ อีกทั้งยังเป็นขนมทานเล่นเพื่อสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มความถี่ในการซื้อ และรับประทานอีกด้วย อีกทั้งยังออกแบบหีบห่อให้มีลักษณะเดียวกันกับขนมทานเล่นทั่วไป เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงลูกค้าว่า “ซื้อได้บ่อย ทานได้ถี่ เพื่อความอร่อยและสุขภาพ”

กลยุทธ์พิชิตใจผู้บริโภค

ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการทำให้ เถ้าแก่น้อยเป็นตราสินค้าในใจของผู้บริโภคในเรื่องของสาหร่าบทะเลอบกรอบ หรือเน้นการทำให้เถ้าแก่น้อยเป็น Generic Brand เมื่อผู้บริโภคนึกถึงสาหร่ายต้องเรียกว่าเถ้าแก่น้อย เป็นกรณีเดียวกันกับมาม่า และ Xerox ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเห็นสาหร่ายยี่ห้ออื่น ก็ต้องเรียกว่าเถ้าแก่น้อยนั่นเอง

กลยุทธ์ที่คุณต๊อบมองเห็นในการเข้าตลาดผ่านทาง 7-eleven และจะทำให้เถ้าแก่น้อยบรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ก็คือ กลยุทธ์ “ป่าล้อมเมือง” โดยเปรียบผู้บริโภคเป็น “เมือง” ส่วน 7-eleven เป็น “ป่า” ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่ายอีกทั้ง เสียเงินแค่ 500,000 บาท สำหรับกลยุทธ์ในการทำให้ผู้บริโภครู้จัก โดยมีการทำแพคเกจที่ราคา 10  บาท เน้นราคาถูกไว้ก่อน เพราะ ใครๆก็ซื้อได้ และเป็นการได้ลองทาน นอกจากนี้คุณต๊อบยัง ตั้งชื่อกลยุทธ์ด้วยตนเองอีกกลยุท์ก็คือ “Give Marketing” โดยในระยะเวลา 3 เดือน โดยมีสโลแกน “ขาดทุนคือกำไร” โดยแบ่งตามอัตราส่วน  40% แจกฟรี และ 60% ไว้ขาย เป็นกลยุทธ์ที่ให้สินค้าฟรีกับทางลูกค้าได้ลองทานในสิ่งที่ดี ที่ผ่านคัดสรรแล้ว โดยแจกผ่านตาม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการใด้ใจผู้บริโภค แต่มีการแอบแฝง เพื่อที่ต้องการจะบอกให้ลูกค้ารู้ว่า ตอนนี้สินค้าเถ้าแก่น้อยมีวางจำหน่ายใน 7-Eleven ซึ่งเมื่อลูกค้าชอบสินค้า ก็สามารถไปหาซื้อได้ที่นี่ได้ สำหรับหลักการผลิตนั้นเถ้าแก่น้อยจะเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และผลิตสินค้าออกมาให้ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค นี่ก็คือหลักของการให้ ที่ทางเถ้าแก่น้อยกำลังสื่อสารต่อผู้บริโภคนั่นเอง

เถ้าแก่น้อยกับคู่แข่งที่ทัดเทียม

เมื่อเถ้าแก่น้อยสามารถก้าวสู่ตลาดขนมขบเคี้ยวได้อย่างมั่นคง และก้าวสู่ผู้นำตลาดสาหร่ายอบกรอบ ด้วย(แนวความคิดของกลยุทธ์รูปแบบกองโจร อย่างไรก็ตามทางเถ้าแก่น้อยยังต้องเจอกับคู่แข่งโดยตรงที่เข้าตลาดมาภายหลังและมาท้าดวลในตลาดสาหร่ายอบกรอบ ซึ่งคือสาหร่ายอบกรอบยี่ห้อ ตี๋เล็ก เอ็มทาโร่ ทริปเปิ้ล-เอ็ม และ เถ้าแก่เนี้ย และคู่แข่งทางอ้อม ซึ่งคือขนมขบเคี้ยวมันฝรั่ง อย่างเลย์ และเทสโต ซึ่งทางเถ้าแก่น้อย ยังคงทำการตลาดแบบกองโจรอย่างต่อเนื่อง โดยการย้ำถึงคนรักสุขภาพ ที่ต้องการทานขนมขบเคี้ยวที่เป็นแบบ แคลอรี่ต่ำ และย้ำถึงเป็นผู้ผลิตรายแรก ซึ่งแสดงถึง การเป็นต้นกำเนิด (Origin) ในการผลิตและจำหน่ายสาหร่ายอบกรอบในประเทศไทย และอีกทั้งได้ทำการแตกแบรนด์ใหม่ ซึ่งคือสาหร่ายยี่ห้อเคอร์ฟ (Curve) ซึ่งเป็นสาหร่าย เพื่อสาวรักสุขภาพ เป็นการตอกย้ำภาพความเป็นเบอร์ 1 ของตลาดสาหร่ายอบกรอบ ซึ่งเป็นอีกวิธีการที่เป็นการโจมตี ขนมขบเคี้ยวที่มีแคลอรี่สูง และ อีกทั้งยังเป็นการโจมตี คู่แข่งของตลาดสาหร่ายอบกรอบ ว่าถ้าคุณจะเลือกซื้อและรับประทานสาหร่ายอบกรอบควรเลือกเถ้าแก่น้อย ที่เป็นต้นกำเนิดของสาหร่ายอบกรอบ ทั้งหมดนี้ทางเถ้าแก่น้อยสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีเมื่อเถ้าแก่น้อยกลายเป็นหนึ่งในทัพใหญ่ แน่นอนแม่ทัพใหญ่อย่างเถ้าแก่น้อยก็ถูกศัตรูทางการตลาดใช้กลยุทธ์แบบกองโจรย้อนรอยกับมาโจมตีได้เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น เถ้าแก่เนี้ยสาหร่ายทอดกรอบ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของเถ้าแก่น้อยในการจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาสู้ในตลาดสาหร่ายทอดกรอบ เถ้าแก่เนี้ยใช้ช่องว่างในการจัดจำหน่ายที่เถ้าแก่น้อยมองข้ามไป นั่นคือการส่งถึงบ้าน หรือ บริการเดลิเวอรี่ ทำให้เถ้าแก่เนี้ยได้รับความสนใจได้ในระดับหนึ่งทีเดียว นี่ก็เป็นการใช้กลยุทธ์รูปแบบกองโจรของเถ้าแก่เนี้ย ที่ทำให้เถ้าแก่น้อยได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน

จากเถ้าแก่น้อยสู่เถ้าแก่ใหญ่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเถ้าแก่น้อย เกิดจากการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ไร้รูปแบบตายตัวของกลยุทธ์แบบกองโจร และทำไมเถ้าแก่น้อยถึงต้องใช้กลยุทธ์นี้ สิ่งแรกทางบริษัทเถ้าแก่น้อยต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูงในการเข้าสู่ตลาดขนมขบเคี้ยว ซึ่งทางเถ้าแก่น้อยต้องหากลยุทธ์ทางการตลาดที่ลงทุนต่ำ แต่ผลตอบแทนกลับมาค่อนข้างสูง  ซึ่งเหมาะกับธุรกิจของเถ้าแก่น้อย และทำให้เกิดความสมดุลทางการเงินภายในบริษัทฯมากขึ้น โดยเถ้าแก่น้อยแค่หาช่องว่างหรือในสิ่งที่คู่แข่ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ยังไม่มีการดำเนินการในตลาด และบุกจู่โจมไปยังจุดนั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนของคู่แข่ง โดยที่คู่แข่งยังไม่ทันตั้งตัว

จากการเรียนรู้ที่มาและที่ไปของ บริษัท เถ้าแก่น้อย ทำให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่นอกเหนือจากกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ นั่นก็คือการออกสินค้าที่เหมาะสมและทันกับสถานการณ์ ดังนั้นทางเถ้าแก่น้อยได้ดำเนินการลงทุนในการค้นคว้า และพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง หรือการทำ Research and Development  อย่างเช่นการออกสาหร่ายอบกรอบ เคอร์ฟ (Curve) มาเพื่อทันกับกระแสรักสุขภาพ ทั้งหมดนี้เองสามารถตัดสินได้ว่า นอกจากมุมมองทางการตลาดที่แยบยลแล้วการทำวิจัยและพัฒนาสินค้าก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ เถ้าแก่น้อยประสบความสำเร็จ เช่นทุกวันนี้

สูตรลับการปรุงรสของเถ้าแก่น้อย

แน่นอนว่าทุกๆบริษัทจะต้องมีสูตรลับที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจในรสชาติของขนมขบเคี้ยว และแน่นอนว่าก็คงจะไม่มีใครเปิดเผยถึงสูตรลับนี้ แต่ไม่ใช่กับคุณต๊อบ ซึ่งเปิดเผยด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า

“ถ้าเราจะได้ใจผู้บริโภค เราต้องเปิดเผย ไม่ปิดบัง รายละเอียดต่อผู้บริโภคได้รับรู้ เพราะว่านี่คือธุรกิจเปิด และสูตรลับของผมก็คือผมจะใส่ความรักที่ผมมีต่อสาหร่ายลงไปในทุกๆขั้นตอนของการผลิต”

และคุณต๊อบยังกล่าวย้ำปิดท้ายว่า “ผมเป็นผู้ชายที่กำลังตกหลุมรักผู้หญิงคนนึงซึ่งผู้หญิงคนนั้นก็คือเถ้าแก่น้อยนี่แหละ เป็นผู้หญิงที่ผมจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ทำให้เค้ามีความสุข เพราะเมื่อเถ้าแก่น้อยมีควมสข ผมเชื่อว่าผู้บริโภคก็จะมีความสุขเมื่อรับประทานสาหร่ายเถ้าแก่น้อยของผม”

สุดท้ายสูตรลับของเถ้าแก่น้อยก็คือ ให้ความรักกับสินค้าเหมือนเป็นแฟนของคุณเอง ดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และ ทุ่มเททุกอย่าง ให้ความรัก เมื่อคนเราทำสิ่งที่เรารักก็จะประสบความสำเร็จ

References
Levinson, Jay Conrad Z1984) Guerrilla Marketing: Secrets for Making Big Profits from Your Small Business, Boston: Houghton Mifflin Company.

นิตยสาร SMEs Today ฉบับที่ 69 ประจำเดือนกรกฎาคม 2551
มติชนรายวัน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11305

สุมาส นพรัตน์ (2547) http://www.marketeer.co.th/inside_detail.php?inside_id=2721

http://www.taokaenoi.co.th/company-thai-1.html

http://news.sanook.com/recommended/sanook_47422.php

ภาพ
มติชนรายวัน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11305

http://www.taokaenoi.co.th

6 มีนาคม 2552
---------------------------------------------------------------------
Copyright 2009 College of Management, Mahidol University. All rights reserved.

Source:http://inside.cm.mahidol.ac.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น