“ผู้นำแบบไหนที่ผู้ตามที่เป็นคนเก่งและมีคุณภาพชอบ”
มีงานวิจัยหนึ่งใน Harvard Business Review หลายปีมาแล้ว ซึ่งผมก็ใช้เป็นหลักตลอดมา เขาวิจัยว่า “ผู้นำแบบไหนที่ผู้ตามที่เป็นคนเก่งและมีคุณภาพชอบ” โดยวิจัยจากคนที่เคยเป็นผู้ตามแล้วประสบความสำเร็จ โดยมีคุณสมบัติอยู่ 6 ข้อ ที่คนเก่งๆ ชอบไปทำงานด้วยข้อที่ 1 คือ เป็นคนที่เคารพผู้อื่น ไม่ว่าผู้อื่นจะอยู่ในฐานะใด ผู้นำที่ดีเขาจะเคารพคนในองค์กร ตั้งแต่รองซีอีโอไปจนถึงเสมียน ไปจนถึงภารโรงเขาก็ยังเคารพ เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูด พูดเป็นคนสุดท้าย เป็นคนที่ให้คนอื่นตัดสินใจให้มาก ตัวเองจะตัดสินใจก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น
ข้อ 2 ผู้ตามที่เก่งชอบผู้นำที่ชอบเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเอง ปกติผู้นำก็อยากให้ลูกน้องเห็นคุณเป็นพระเจ้า เป็นซุปเปอร์แมน เก่งทุกเรื่อง แต่ในความเป็นจริงเขาอาจจะไม่ชอบอย่างนั้นก็ได้
ข้อ 3 ผู้นำที่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้เสมอ ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้องแยกให้ดีนะครับ เมืองไทยความที่มีผิดกับพลาดแล้วเราใช้คู่กัน เราจึงผิดพลาดตั้งแต่เดินสะดุดยันประหารชีวิต ดังนั้น ผู้นำที่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองจะเป็นคนที่ผู้ตามเก่งๆ เขาชอบ
ข้อ 4 ผู้นำที่ผู้ตามเกลียดมากที่สุด คือ ผู้นำที่ชอบทำตัวเป็น Perfectionism เพราะว่า ถ้าคุณเป็น Perfect คุณก็ไม่ต้องการเขา เพราะถ้าคุณเป็น Perfect man คุณก็ไม่ต้องการใครเลย
ข้อ 5 ผู้นำที่คนชอบอีกประเภทหนึ่งก็คือ ผู้นำที่ทำตัวเป็นผู้ตามทุกครั้งที่มีโอกาส คือการบริหารงานที่ผมเรียกว่า เป็นการบริหารงานแบบพีระมิดหัวหลับ ในบางเวลา บางสถานการณ์ ผู้นำต้องทำตัวเป็นทรัพยากรให้เขามาใช้ ให้เขามาสั่งว่าควรจะทำอะไร
ถ้าเราทำตัวเป็นพีระมิดหัวตั้ง คนอื่นก็รอว่าเมื่อไหร่คุณจะคิดออก แต่ถ้าเราทำตัวเป็นพีระมิดหัวกลับ วันๆ หนึ่งทุกคนก็คิดว่าองค์กรควรจะทำอะไร แล้วก็สามารถใช้ทรัพยากรจากล่างขึ้นบนได้
ข้อสุดท้ายงานวิจัยระบุว่า ผู้ตามเขาชอบผู้นำที่เปิดเผยทุกอย่าง เขาใช้คำว่า Transparent ไม่มีความลับ ไม่มีเคล็ดลับถ้าไม่จำเป็น สมัยก่อนเรามักมีเคล็ดลับทางการค้า แต่ละคนก็มักจะสงวนเคล็ดลับ
แต่ในโลกใหม่ โลกคลื่นที่ 3 คลื่นที่ 4 เราต้องระดมสมองกันตลอดเวลา ถ้าคุณมีความลับ ปิดความลับ คุณรับสมองกับใครไม่ได้ ฉะนั้น ผู้นำสมัยใหม่ก็จะเปิดเผย ไม่เก็บเคล็ดลับ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
ผมจะถือคติเสมอในการทำงานว่า “พูดจริง พูดหมด ไม่ต้องจำ” เพราะถ้าคุณโกหก คุณกั๊ก คุณก็ต้องจำ แต่หากพูดจริง พูดหมด ไม่ต้องจำ อาจทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้น คนก็ได้เรียนรู้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ที่บริษัทผมมีกติกาว่า อะไรที่เป็นประโยชน์แล้วถ้ามีใครรู้อยู่คนเดียว เรายอมได้กรณีเดียวคือ รู้เมื่อวาน ดังนั้นทุกคนต้องเปิด เราจะสังเกตว่าสังคมการทำงานแบบโบราณชอบเก็บ ชอบกั๊กความลับ เพื่อจะได้เท่ ไม่เหมือนใคร
โดยเฉพาะโลกสมัยใหม่ที่เด็กโคตรเก่ง เด็กมีข้อมูลเต็มไปหมด คนเป็นเจ้านายก็จะมีตัวตนอยู่ได้เราก็ต้องรู้มากกว่าเขา พอรู้มากกว่าเขาก็จะไม่บอกสิ่งที่ตัวเองรู้ อย่างนี้องค์กรก็จะติดไปหมด
สุดท้ายผมอยากจะเล่าว่า ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้นำที่ดี หรือโดดเด่นอะไรสักเท่าไหร่ แต่การที่เป็นวาณิชธนากร ได้พบคนที่เป็นผู้นำองค์กรที่มากมาย หลายสิบ หลายร้อยคน ทั้งคนที่เคยประสบความสำเร็จ คนที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง คนที่เคยสำเร็จแล้วล้มเหลว คนที่ดูเหมือนสำเร็จอยู่วันนี้ แต่วันข้างหน้ามีคำถามมากมายว่าจะไปรอดหรือเปล่า(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
บรรยง_สรุป
ผมสรุปว่า ผู้นำที่ดีโดยเฉพาะในทางธุรกิจ ในองค์กรธุรกิจ ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นพวกสมองซ้าย บางคนเป็นพวกสมองขวา บางคนมีทักษะบางเรื่องแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ จะมีเหมือนกันหมด คือมี 5 ใจ
1. ใจรัก แปลภาษาอังกฤษว่า “Passion” แปลเป็นภาษาพุทธว่า “ฉันทะ” คือเป็นคนที่รักในองค์กรของตัวเอง รักในสิ่งที่ตัวเองทำ รักในสิ่งที่องค์กรทำ รักเข้าขั้นลุ่มหลงก็ได้ แต่ไม่ใช่ลุ่มหลงในทางงมงาย การไม่มี Passion ทำให้คนไม่ประสบความสำเร็จ
2. ใจสู้ ผมไม่เคยเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ กราฟขึ้นขาเดียว ทุกคนเคยมีปัญหาใหญ่ เคยล้มลุก แต่เขาลุก ไม่หนี เขาสู้ สู้ต่อเนื่องยาวนานเพื่อบรรลุ Passion ที่เขามี
3. ใจถึง ต้องตัดสินใจ การทำงานต้องตัดสินใจ คนที่ไม่ตัดสินใจยากที่จะประสบความสำเร็จ มีคนบอกว่า โลกมีคนสองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นพวกกลัวความล้มเหลว ประเภทที่สองคือเป็นพวกที่กลัวเสียโอกาส
ผู้นำทุกคนที่ผมเจอแล้วประสบความสำเร็จเป็นพวกหลัง ถามตัวเองนะครับว่าเราเป็นพวกไหน ความล้มเหลวไม่น่ากลัวหรอกครับ มันเป็นวัตถุดิบให้คุณด้วยซ้ำสำหรับที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต
4. สำคัญมาก คือ ใจกว้าง คนใจแคบไม่มีทางเป็นผู้นำที่ดีได้ ใจกว้างไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินทองอย่างเดียว ทั้งผลงาน เกียรติยศ ชื่อเสียง ทั้งความสำเร็จ ต้องแบ่งปัน ถ้าคุณใจแคบคุณก็ทำคนเดียว ถ้าคุณไม่แบ่งใครคุณก็ต้องสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง
สุดท้าย 5. คือ ใจสูง มีคุณธรรม มีมาตรฐานจริยธรรม เป็นคนที่รู้จักคิดเห็นในเรื่องส่วนรวม ไม่ต้องแยกประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม แต่หลอมมัน สองคำนี้มันต่างกัน คนชอบพูดว่าเราต้องแยกประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตน เป็นไปไม่ได้หรอกครับ จริงๆ มันต้องหลอมให้ไปทางเดียวกันให้ได้
ทั้งหมดนี้ไม่มีในตำราเล่มไหน แต่อยากนำมาแบ่งปัน
ตัดมาแต่ภาวะผู้นำ
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด
http://thaipublica.org/events/4-views-drive-organization-leader-sustain-event2/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น