วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แนวโน้มของการบริหารจัดการ Work-Life Balance ในองค์กร


แนวโน้มของการบริหารจัดการ Work-Life Balance ในองค์กร
      เรื่องของการบริหารจัดการความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว หรือที่เรียกกันว่า Work-Life Balance นั้น เป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรต่างเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และพยายามที่จะนำเอาเรื่องเหล่านี้มาปรับใช้กับการบริหารทรัพยากรบุคคลในบริษัท ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มในเรื่องของ Work-Life Balance นั้นเป็นเรื่องที่พนักงานให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

แต่ประเด็นที่มีความยากก็คือ บางองค์กรอยากทำ แต่ก็ทำได้ยาก เนื่องจากองค์กรประกอบต่างๆ ของการทำงานไม่ลงตัว และไม่เอื้ออำนวยให้สามารถสร้างระบบเหล่านี้ได้ทันที แต่อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มที่น่าสนใจในเรื่องของ Work-Life Balance มาฝากกันครับ
 

             พนักงานประจำจะมีความต้องการในเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มการทำงานของพนักงานในออฟฟิศนั้น เริ่มมีความต้องการในเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ในการทำงาน พนักงานบางคนเริ่มไม่อยากเข้าทำงานที่ออฟฟิศ แต่ต้องการไปนั่งทำงานที่อื่นซึ่งทำงานได้ผลเหมือนกัน บ้างก็ต้องการเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ต้องเข้างาน และออกงานตามเวลาที่กำหนดไว้ เพราะมองว่า เน้นไปที่ผลการทำงานมากกว่าที่เวลาในการทำงาน ดังนั้นถ้าองค์กรมีความเข้าใจในเรื่องของความยืดหยุ่นเหล่านี้ที่พนักงานต้องการ ก็จะสามารถออกแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจ และอยากทำงานกับองค์กรมากขึ้นกว่าเดิม
          บริษัทขนาดเล็กจะสามารถสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานได้ดีกว่าบริษัทใหญ่ จากการศึกษาเรื่องของการวางระบบ Work-Life Balance ของ SHRM พบว่า บริษัทขนาดเล็กจะมีความสามารถในการทำระบบนี้ได้ดีกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทเล็กๆ นั้นจะมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่า ไม่มีระบบงานที่ซับซ้อนอะไรมากมาย ซึ่งสามารถทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัน เวลาทำงาน เรื่องของการเลี้ยงดูบุตร และการทำงานที่บ้าน
มีเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่กลับได้ใช้น้อยลง องค์กรที่วางระบบ Work-Life Balance นั้น มักจะเริ่มต้นที่ระบบวัน และเวลาในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เรื่องของเวลาในการมาทำงานก็อาจจะมีการเหลื่อมเวลาเข้าออกงานเพื่อให้ตรงกับความต้องการของพนักงานมากขึ้น เรื่องของวันทำงานก็เช่นกัน อาจจะมีการให้ทำงานที่บ้านได้ หรืออาจจะมีการลาเพื่อไปทำธุระส่วนตัวได้มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี บริษัทที่มีนโยบายเหล่านี้ที่ชัดเจน กลับกลายเป็นว่าพนักงานไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใช้สิ่งเหล่านี้ตามที่ออกแบบไว้ เนื่องจากงานที่เยอะ และการเน้นไปที่ผลสำเร็จของงาน ซี่งก็ยังคงต้องอาศัยเวลาในการทำงานอยู่ดี ไม่ว่าจะทำที่ไหน หรือทำเมื่อไหร่ ก็ต้องใช้เวลาในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จของงานออกมาให้ได้ สุดท้ายพนักงานเองก็แทบจะไม่ได้ใช้วันเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเหล่านี้มากนัก
 

        จริงๆ แล้วเรื่องของการทำงานแบบ Work-Life Balance นั้นเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่องค์กรควรจะให้การสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องทำงานตลอดเวลา เพราะถูกตามงานได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม

      แต่ข้อดีก็คือ ความเจริญทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้เราสามารถสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานของตนเองได้ดีขึ้น และมากขึ้นกว่าในอดีต แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ วินัยในตนเอง เพราะถ้ากฎเกณฑ์ต่างๆ น้อยลง ไม่เข้มงวดมากเหมือนในอดีต นั่นก็แปลว่า ตัวเราจะต้องมีวินัยในตนเองที่จะสามารถควบคุมตนเองให้ทำงานให้ได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้

       มิฉะนั้นแล้ว Work-Life Balance มันก็จะไม่ Balance อีกเช่นกัน คราวนี้จะกลายเป็นเน้นไปที่ Life ของตนเองมากจนเกินไป จนทำให้งานไม่เสร็จตามกำหนด แล้วถ้าเป็นแบบนี้ Work-Life ก็ไม่ Balance อยู่ดีครับ
 

 

ที่มา : http://prakal.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น