วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การสร้างเมืองใหม่ ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ของจีน ส่งอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 21

การสร้างเมืองใหม่ ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ของจีน ส่งอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 21

: 29 พ.ค. 2556 เวลา 14:25:48 น.
คอลัมน์ คิดนอกรอบ

เมื่อไม่นานมานี้ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อโลกในศตวรรษที่ 21 คือการสร้างเมืองใหม่ของจีน และการพัฒนาเทคโนโลยี่ขั้นสูงในสหรัฐอเมริกา

เมื่อจีนตัดสินใจเปิดประเทศก้าวสู่โลกาภิวัตน์ นักลงทุนจากนานาประเทศต่างหลั่งไหลเข้าไปลงทุน จนมีคำกล่าวว่า "ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน" ส่งผลให้จีนมีสภาพเป็นดั่ง "โรงงาน" ของโลกเศรษฐกิจ ติดปีกทะยานจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก

ปัจจุบันวงล้อเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป จีนจึงไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกเหมือนเช่นที่ผ่านมา

"มังกรที่ยิ่งใหญ่อย่างจีน จึงต้องวางแผนเปลี่ยนโฉมรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่ง 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญคือการสร้างเมืองใหม่ โดยถือเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญแห่งทศวรรษของจีน"

การสร้างเมืองใหม่ของจีนมีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายร้อยล้านคน

การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ คือการผลักดันการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพของความเป็นเมือง ลดช่องว่างระหว่างคนในชนบทและคนเมือง

"ที่สำคัญที่สุดนั้น คือการสร้างเมืองใหม่จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดการกระตุ้นอำนาจซื้อภายในประเทศ การจ้างงาน เกิดอุปสงค์ และนำมาซึ่งธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านการค้า อสังหาริมทรัพย์ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นพลังผลักดันให้เศรษฐกิจจีนทะยานไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนับจากนี้เป็นต้นไป"

นอกจากนี้ จีนยังถือว่าการสร้างเมืองใหม่ เป็นเรื่องของการประกาศความยิ่งใหญ่ของจีนต่อชาวโลก ดังตัวอย่าง การสร้างเมือง "ผู่ตง" สะท้อนถึงปรัชญาของ "เหมา เจ๋อ ตุง" ที่ว่า "ลมตะวันออกสามารถเอาชนะลมตะวันตก" ทำให้นานาประเทศเห็นว่า แม้แต่เมืองแมนฮัตตันที่ว่าโด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็ยังสู้ "ผู่ตง" ของมังกรจีนไม่ได้

"เพราะจีนได้สร้างผู่ตง (Pu Dong) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ ของนครเซี่ยงไฮ้ ให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินและธุรกิจของเซี่ยงไฮ้และจีน ซึ่งเดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวนา โกดังเก็บสินค้า"

เขตเมืองใหม่ผู่ตง มีพื้นที่ทั้งหมด 1,210 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4.12 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรนครเซี่ยงไฮ้ ผู่ตงมีลักษณะตามภูมิศาสตร์เป็นสามเหลี่ยม ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำหวางผู่ ด้านตะวันตกติดกับปากแม่น้ำแยงซีเกียง และยังเป็นจุดศูนย์กลางของท่าเรือสำคัญของประเทศจีน ที่ซึ่งแม่น้ำแยงซีเกียงไหลลงทะเลจีน อันเป็นดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียงที่กว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์

สามารถขยายการค้าไปยังประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก และประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้อีกด้วย เขตผู่ตงไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของย่านศูนย์กลางการเงิน ท่าเรือ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมจินเฉียวและจางเจียงเท่านั้น แต่จะเป็นที่ตั้งของเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือน้ำลึกหยางซาน ซึ่งจะทำให้ผู่ตงกลายเป็นศูนย์รวมแหล่งอุตสาหกรรมการค้าและการเงินสำคัญแห่งใหม่ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจีน

รัฐบาลจีนใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีในการเนรมิตผู่ตงให้กลายเป็นเมืองใหม่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจีนระดมทรัพยากรจากทั่วโลก เชิญชวนวิศวกร สถาปนิกชั้นนำของโลก มาช่วยกันสร้างสรรค์ออกแบบอาคารสูง ในสไตล์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม และเชิญบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงของโลกในด้านต่าง ๆ ทั้งสถาบันการเงิน ประกันภัย น้ำมัน ฯลฯ เข้ามาลงทุน มีระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ถนน 8 เลน สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ผู่ตงวันนี้จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนแสนยานุภาพของจีนและความทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ

อย่างไรก็ตาม นโยบายการสร้างเมืองใหม่ของจีน ก็มิใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าการสร้างเมืองของจีนก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ อาทิ สร้างเสร็จแล้วไม่มีคนอยู่ หรือบางเมืองมีการย้ายคนออกไปแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้างหรือพัฒนา เป็นต้น

ทั้งนี้ เพราะความเป็นเมืองไม่ได้หมายถึงจำนวนประชากร หรือขนาดของพื้นที่เท่านั้น หากยังต้องพัฒนาด้านอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กันด้วย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ การจ้างงาน โดยเฉพาะการจะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสั่งการได้ ดังนั้น การสร้างเมืองนี่จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ยิ่งใหญ่มากของจีนอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การสร้างเมืองใหม่ในอดีตที่ผ่านมา อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีต่อจีนในเวลานี้ ดังนั้น ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ดูเหมือนว่ามังกรจีนจะไม่เน้นเร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงตัวเลขเท่าใดนัก

"แต่จะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างทั่วถึงเป็นแกนหลัก เพื่อนำไปสู่สังคม "เสี่ยวคัง" หรือ "สังคมที่กินดีอยู่ดีอย่างทั่วหน้า""

ดังนั้น เราจึงได้เห็นการให้น้ำหนักของการสร้างเมือง เปลี่ยนจากเมืองใหญ่มาสู่การสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นเมืองในชนบทมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก และจะมีอิทธิพลในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย

นอกจากนี้ เมืองในรูปแบบใหม่ยังคงดำรงไว้ซึ่งอารยธรรมของสังคมเกษตรกรรม การพัฒนาสู่ความเป็นเมืองในรูปแบบใหม่ ต้องไม่เป็นการทำลายนโยบาย "3 เกษตร" (ชุมชนเกษตร การเกษตร และเกษตรกร) หากแต่ต้องมีผลต่อการแก้ไขปัญหา "3 เกษตร" เพื่อให้ประชาชนจีนที่เป็นเกษตรกรกว่า 700-800 ล้านคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

และการสร้างเมืองใหม่ในทศวรรษนี้จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรของจีนให้ทันสมัย คือต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การจัดการที่สมัยใหม่ รวมถึงต้องแก้ปัญหากฎหมายที่ดิน เพื่อที่จะเอาที่ทำการเกษตรเข้ามารวมเป็นผืนใหญ่ มาทำภาคเกษตรสมัยใหม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการท้าทายให้เข้าไปมีบทบาทในการร่วมกับภาครัฐของจีน ดำเนินโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัยหลายแห่ง ผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่จีนต้องการก็คือความอยู่รอดของประเทศชาติ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็ทำให้อดที่จะเหลียวดูประเทศไทยของเราไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะไม่มีนโยบายการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองเล็ก ที่ชัดเจนเช่นประเทศจีน

หากในแง่การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต นอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนต่างประเทศแล้ว เราเลือกที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจ็กต์เท่านั้น

"อย่างล่าสุด โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ ต้องดูกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร จะพัฒนาประเทศได้อย่างที่กล่าวไว้หรือไม่"
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1369811894
 โดย ดร.สารสิน วีระผล รอง กก.ผจก.ใหญ่ เครือเจริญโภคภัณฑ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น