วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตรรกะในการจัดการเชิงกลยุทธ์


ดร.พงศ์ศรันย์  พลศรีเลิศ
phongzahrun@gmail.com

ความเข้าใจในตรรกะ (Logic) ของการจัดการเชิงกลยุทธ์ จะช่วยทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มที่สำคัญของธุรกิจ ช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ทิศทางและเป้าหมายของธุรกิจในอนาคต และช่วยให้เราสามารถชี้ชัดถึงสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ช่องว่างระหว่างเป้าหมายของธุรกิจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันลด น้อยลง
ตรรกะในการจัดการเชิงกลยุทธ์ ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ส่วน คือ Strategic Learning, Strategic Thinking, Strategic Planning และ Strategic Action
Strategic Learning (การเรียนรู้เชิงกลยุทธ์) ผู้วางแผนกลยุทธ์ต้องรู้และเข้าใจขอบเขต วิธีการปฏิบัติงานของธุรกิจ สิ่งที่กิจการได้ปฏิบัติมา และเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่ามีความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร การเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ต้องอาศัยการติดตาม พิจารณา วิเคราะห์สถานการณ์สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้ เป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ ก็คือ การสร้างองค์ความรู้ที่ลึกซึ้ง ที่สามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ทุกคน สามารถทำความเข้าใจได้ตรงกัน อย่างถูกต้อง ทันเวลา เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของกิจการและแนวโน้มที่คาดว่าจะ เกิดขึ้นในอนาคต โดยทั่วไปเป็นกระบวนการทำ SWOT Analysis ที่จำเป็นต้องทำอยู่สม่ำเสมอ ตลอดเวลา
Strategic Thinking (การคิดเชิงกลยุทธ์) เป็นกระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และการวิเคราะห์ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จาก การเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ มาผ่านกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ ที่ต้องตอบโจทย์สำคัญของธุรกิจให้ได้ว่า อะไรคือเป้าหมายในอนาคตของธุรกิจ อะไรคือสิ่งที่ธุรกิจจำเป็นต้องทำ และต้องเป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในทางปฏิบัติจะต้องทำการกำหนด วิสัยทัศน์ VISION, พันธกิจ MISSION, เป้าหมาย GOAL และ ค่านิยม VALUES ของธุรกิจให้มีความชัดเจน สอดคล้อง สนับสนุนกัน และใช้เครื่องมือ TOWS Matrix หรือ SWOT Matrix ในการพิจารณาสร้างสรรค์กลยุทธ์
 Strategic Planning (การวางแผนเชิงกลยุทธ์)  เมื่อได้แนวทางกลยุทธ์ที่สำคัญจาก กระบวนการคิดเชิงกลยุทธ์แล้ว ผู้ปฏิบัติต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดรายละเอียดของแผนการปฏิบัติ ที่มีการระบุกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำ กรอบระยะเวลาของกิจกรรม เป้าหมายหรือตัวชี้วัดของกิจกรรมต่างๆ ผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม หน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
Strategic Action (การปฏิบัติเชิงกลยุทธ์) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จ (Execution) ตามเป้าหมายและแผนงานต่างๆที่กำหนดไว้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจของผู้ปฏิบัติทุกคนทั่วทั้งองค์กร
ความบากบั่นพยายาม และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ ที่จะค้นพบหนทางใหม่ๆ เป็นหลักการสำคัญที่จะทำให้กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์มีประสิทธิผล ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ยอมจำนนกับหลักการและกรอบความคิดเดิมๆ จะทำให้เราพบทางเลือกใหม่ ที่เราสาสามารถพัฒนา ต่อยอดความคิด ไปสู่การสร้างสรรค์กลยุทธ์ที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้  ซึ่งเมื่อเราใช้ตรรกะในการจัดการเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว เราต้องตอบคำถามสำคัญต่อไปนี้ให้ได้
-           มีธุรกิจใหม่อะไรที่เราเห็นโอกาสในการที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจได้บ้าง
-           ทิศทางของธุรกิจในอนาคตจะเป็นเช่นไร
-           อะไรคือเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ ใน 1 ปี 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า
-           เราจะอยู่รอด และเติบโตในธุรกิจได้อย่างไร
-           กลยุทธ์อะไรที่เราจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ
สิ่งที่เราต้องพิจารณาในการคิดและวางแผนเชิงกลยุทธ์ ก็คือ ต้องกำหนดกลยุทธ์ที่จำเป็นต้องปฏิบัติ (Functional / Operational Strategies) ในด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมและสอดคล้องสนับสนุนกันอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ด้านการตลาด กลยุทธ์ด้านการผลิตหรือบริการ กลยุทธ์ด้านบุคลากร และกลยุทธ์ด้านการเงิน  นอกเหนือจากนั้น อาจมีกลยุทธ์ด้านวิจัยและพัฒนา กลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ และอื่นๆ ตามลักษณะขอบเขตของการดำเนินธุรกิจ
เพื่อที่จะพัฒนาทักษะการจัดการเชิงกลยุทธ์ของเราและทีมงาน จำเป็นต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความล้มเหลวที่สำคัญของกลยุทธ์อยู่ที่ขั้นตอนการนำไปปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการทบทวนถึงสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว และสิ่งที่จะแก้ไขใหม่อยู่เสมออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยไม่มีคำว่า “ยอมแพ้”
“Continuous improvement is a requisite of competitiveness. Never let it rest”

http://phongzahrun.wordpress.com/2012/04/16/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น