Blog แห่งการเรียนรู้ สรุปรวบรวมเรื่องการตลาด ทรัพยากรมนุษย์ ภาวะผู้นำ ทฤษฎีองค์กร เว็บแห่งการอ่าน คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจของตน เว็บแห่งรวบรวมมาจากหลายๆแห่ง จากหลายๆท่านผู้รู้
วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556
จิตวิทยาอุตสาหกรรม
จิตวิทยาอุตสาหกรรม
จิตวิทยาเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งจากหลายสาขาในโลก มิใช่ของแปลกใหม่ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่เสมอว่า จิตวิทยาคืออะไร เรียนแล้วจะได้อะไร และมักได้คำตอบว่าแม้เรียนจิตวิทยาแล้วยังไม่ได้สิ่งใดที่เป็นรูปธรรม แต่ความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ทางจิตวิทยา อาจช่วยขยายความคิดให้กว้างขวางขึ้นทั้งที่เกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนางาน พัฒนาทักษะวิชาชีพ พัฒนาตนเอง พัฒนาผู้อื่น ช่วยการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างได้ประสิทธิภาพมากขึ้น จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคนทุกประเภท ผู้นำจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์จะต้องเลือกศึกษาในสาขาที่เหมาะสมกับงานและชีวิตของตนเอง เช่น ถ้าเป็นนักปกครอง อาจต้องเลือกเรียนจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการบริหาร จิตวิทยาการเมือง จิตวิทยาการปกครอง ถ้าเป็นครูอาจเลือกเรียนจิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาการพัฒนาการ และจิตวิทยาการศึกษา และถ้าเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า อาจเลือกเรียนจิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาการขาย จิตวิทยาการโฆษณา จิตวิทยาการสื่อสาร จิตวิทยาการประชาสัมพันธ์ และจิตวิทยาธุรกิจ ซึ่งแต่ละรายวิชาดังกล่าวจะว่าด้วยพฤติกรรมของบุคคลในแง่มุมที่ต่างๆ กันตามจุดเน้นของรายวิชา
ในส่วนที่กล่าวเป็นเบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาและจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร จะว่าด้วยความหมาย ความเป็นมาของจิตวิทยา สาขาของจิตวิทยา ประโยชน์ของความรู้ทางจิตวิทยา ความหมายของจิตวิทยาอุตสาหกรรม ความเป็นมาของจิตวิทยาอุตสาหกรรม ขอบข่ายของจิตวิทยาอุตสาหกรรม สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม บทบาทหน้าที่ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรม ข้อจำกัดของวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม และวิวัฒนาการของจิตวิทยาอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจลักษณะของศาสตร์ทางจิตวิทยาและจิตวิทยาอุตสาหกรรมในภาพรวม
1.1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา
1.1.1 ความหมายของจิตวิทยา
ได้มีผู้ให้คำจำกัดความของ “จิตวิทยา” (psychology) ไว้ต่างๆ กันตามยุคสมัย โดยในสมัยเริ่มแรกเมื่อครั้งจิตวิทยายังเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา ชาวกรีกโบราณให้ความหมายไว้ว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ ยุคต่อมาในสมัยเพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotel) ได้ให้คำจำกัดความว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตและต่อมาในยุคของจอห์นลอค (John Locke) ปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่าจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตสำนึก
การให้คำอธิบายความหมายของจิตวิทยาดังกล่าว เป็นไปตามความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้นๆ คำจำกัดความล่าสุดที่ได้รับการยอมรับและจัดว่าทันสมัย ได้แก่ คำจำกัดความของจอห์น บี วัตสัน (John B. Watson) บิดาแห่งจิตวิทยาแผนใหม่ (Bruno 1980:11) โดยให้คำจำกัดความไว้ว่า “จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคล” ซึ่งคำว่า “พฤติกรรม” (behavior) นี้ อาจเป็นพฤติกรรมภายนอกหรือพฤติกรรมภายในก็ได้ ตัวอย่างพฤติกรรมภายนอก เช่น การพูด การกระทำ กิริยาท่าทาง ความประพฤติกรรมฯลฯ ตัวอย่าพฤติกรรมภายใน เช่น จิตใจ ความคิด ความรู้สึก เจตคติ ค่านิยม ฯลฯ เป็นต้น แต่จิตวิทยามักมุ่งศึกษาพฤติกรรมภายในมากกว่าพฤติกรรมภายนอก เนื่องจากพฤติกรรมภายในเป็นตัวกำหนดขอบเขตพฤติกรรมภายนอก ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์มีการกระทำโดยสอดคล้องกับจิตหรือความคิดภายใน ดังนั้น เมื่อจะศึกษาให้เข้าใจพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคล จึงต้องศึกษาจากจิตหรือความคิดภายในและเมื่อจะพัฒนาหรือควบคุมพฤติกรรมของบุคคลก็ต้องพัฒนาหรือควบคุมจิตหรือความคิดภายใน ซึ่งจะนำไปสู่การกระทำหรือการแสดงออกที่ถาวรของบุคคลผู้นั้น
1.1.2 ความเป็นมาของจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่แตกตัวมาจากวิชาปรัชญาเก่าแก่โบราณที่ว่าด้วยเรื่องราวของจิตและวิญญาณ คำว่า “จิตวิทยา” แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “psychology” ซึ่งมีที่มาจากภาษากรีกโบราณ 2 คำคือ
ไซคี (psyche) หมายถึง จิต หรือวิญญาณ , โลกอส (logos) หมายถึง ศาสตร์ หรือความรู้
เมื่อรวม 2 คำเข้าด้วยกัน จิตวิทยาจึงหมายถึง ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ เมื่อให้ชื่อและคำจำกัดความดังกล่าว การศึกษาจิตวิทยาในยุคต้นๆ จึงเน้นศึกษาเรื่องจิตและวิญญาณ ตามความเชื่อของคนในยุคนั้น ตัวอย่างนักปราชญ์ชาวกรีกที่เชื่อในเรื่องจิตและวิญญาณ ได้แก่ เพลโต (427-347 ก่อนคริสตศักราช) และอริสโตเติล (384-322 ก่อนคริสตศักราช) ทั้ง 2 ท่านนี้เมื่ออธิบายเรื่องราวทางจิตวิทยา มักอธิบายเรื่องของจิตและวิญญาณแต่จากคำอธิบายของปราชญ์ทั้ง 2 ท่านดังกล่าวนั้น เป็นรากฐานที่สำคัญในการศึกษาค้นคว้าต่อๆ มาเกี่ยวกับการทำงานของจิต ความจำ พฤติกรรมทางสังคม และกระบวนการคิดของมนุษย์
หลังจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นในยุคต่อๆ มา ความเชื่อเรื่องวิญญาณเสื่อมลง จิตวิทยาจึงเน้นศึกษาเรื่องของจิต ไม่สนใจศึกษาเรื่องของวิญญาณอีกต่อไป การศึกษาเรื่องราวของจิตเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยุคของจอห์น ลอค (1632-1704) ปราชญ์ชาวอังกฤษ ที่เริ่มศึกษาเรื่องของจิตละเอียดขึ้นไปอีก โดยเน้นศึกษาที่จิตสำนึก (conscious) ซึ่งหมายถึงสภาพการรู้สึกตัวของคนเราที่ตระหนักในบทบาท การกระทำ และกาลเวลาขณะนั้นๆ และจอห์น ลอค ยังเน้นศึกษาธรรมชาติพฤติกรรมของมนุษย์ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมด้วย ลักษณะการอธิบายดังกล่าว เริ่มแสดงให้เห็นความสมเหตุสมผลของศาสตร์ทางจิตวิทยา ซึ่งเข้าใกล้ความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
กุสตาส เฟชเนอร์ (1801-1887) นักฟิสิกส์และนักปราชญ์ชาวเยอรมันเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้จิตวิทยาเข้าใกล้ความเป้นวิทยาศาตร์ ท่านอธิบายจิตใจของมนุษย์จากการศึกษาทดลองการสัมผัสสิ่งเร้าของบุคคล ท่านพบว่าจิตใจของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น ซึ่งก็ให้ความสำคัญกับสิ่งเร้าหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกตัว และแสดงให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกายกับจิต
จอห์น บี วัตสัน (1878-1958) บิดาแห่งจิตวิทยาแผนใหม่ชาวอเมริกัน เป็นผู้นำที่สำคัญต่อการทำให้จิตวิทยารุ่งเรืองและมีความเป้นวิทยาศาสตร์เต็มตัว ท่านนำวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาและอธิบายพฤติกรรมทางจิตวิทยา และยังเป็นผู้นำของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมด้วย วัตสันเชื่อว่าจิตไม่มีตัวตน มองไม่เห็น ถ้าต้องการทราบจิตของใครก็ต้องศึกษาจากฑฟติกรรมหรือการกระทำของผู้นั้นซึ่งจะสะท้อนให้เห็นจิตหรือความคิดภายใน ท่านเป็นผู้ให้คำจำกัดความที่ทันสมัยว่า “จิตวิทยาคือวิทยาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม”
วิลเฮล์ม วุ้นดท์ (1872-1920) บิดาแห่งจิตวิทยาการทดลองชาวอเมริกัน ได้ตั้งห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยาเป็นแห่งแรกที่เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการศึกษาทดลองพฤติกรรมของมนุษย์ที่กว้างขวางขึ้น ส่งผลให้ศาสตร์ทางจิตวิทยามีความแพร่หลายและนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายแง่หลายมุมในชีวิตประจำวัน
จากที่กล่าวมาเกี่ยวกับความเป็นมาของจิตวิทยา จะเห็นได้ว่าจิตวิทยายุคใหม่เริ่มในปลายคริสตวรรษที่ 19 ได้มีการศึกษาค้นคว้ากันแพร่หลายและมีการนำจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ มากมาย ซึ่งการที่จะเลือกนำไปใช้ในแง่มุมใดก็ต้องเลือกโดยให้สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เป็นมาของพฤติกรรมด้านนั้นๆ
1.1.3 สาขาของจิตวิทยา
พฤติกรรมของมนุษย์มีหลายลักษณะ จิตวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ก็มีต่างๆ กัน จึงแบ่งศาสตร์ของจิตวิทยาได้หลายสาขา ดังนี้
1.1.3.1 จิตวิทยาที่ศึกษาพฤติกรรมทั่วไป เช่นตัวอย่างรายวิชาดังต่อไปนี้ คือ
1) จิตวิทยาทั่วไป (General Psychology) ศึกษาพฤติกรรมทั่วไปของคนปกติ เป็นพื้นฐานความรู้เรื่องพฤติกรรมสำหรับผู้ศึกษาทั่วๆ ไป และสำหรับผู้ที่จะเรียนพฤติกรรมศาสตร์เฉพาะด้านให้ลึกซึ้งต่อไป
2) จิตวิทยาสรีระ (Physiological Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับส่วนประกอบ หน้าที่ และธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ที่มีผลต่อการแสดงออก
3) จิตวิทยาการทดลอง (Experimental Psychology) ศึกษาพฤติกรรมทั่วไปของมนุษย์และสัตว์จากห้องทดลองโดยเฉพาะ
1.1.3.2 จิตวิทยาที่ศึกษาเฉพาะด้าน เช่นตัวอย่างรายวิชาดังนี้ คือ
1) จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของบุคคลวัยต่างๆ ตามระยะเวลาที่ผ่านไป
2) จิตวิทยาคลีนิค (Clinical Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความผิดปกติของพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่แนวทางบำบัดรักษาและการทำจิตบำบัด
3) จิตวิทยาอปกติ (Abnormal Psychology) ศึกษาพฤติกรรมผิปกติทุกประเภทรวมทั้งพวกอัจฉริยะในด้านต่างๆ
4) จิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ศึกษาพฤติกรรมทางสังคมและพฤติกรรมกลุ่มมนุษย์
1.1.3.3 จิตวิทยาประยุกต์ เป็นการศึกษาด้านการนำความรู้ทางพฤติกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงการต่าง ๆ เช่น ตัวอย่างรายวิชาดังนี้คือ
1 ) จิตวิทยาการแพทย์ ( Medical Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนำจิตวิทยาไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้มีอาการทางจิต
2 ) จิตวิทยาการปรึกษาแนะแนว ( Counseling Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนำศาสตร์ด้านพฤติกรรมไปประยุกต์ในงานให้บริการปรึกษาและแนะแนวแก่กลุ่มบุคคลด้านต่าง ๆ
3 ) จิตวิทยาบุคลากร ( Employment Psychology) เป็นความรู้ในเรื่องการนำศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมไปเป็นประโยชน์ในการปกครองและการบริหารบุคคล
4 ) จิตวิทยาการศึกษา ( Educational Psychology) เป็นศาสตร์ที่ให้ความรู้เรื่องหารนำจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์ในการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน
5 ) จิตวิทยาอุตสาหกรรม ( Industrial Psychology) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในไปใช้ในงานอุตสาหกรรมและการสร้างผลผลิต
6 ) จิตวิทยาธุรกิจ ( Business Psychology) เป็นศาสตร์ที่ให้ความรู้ในเรื่องการนำจิตวิทยาไปใช้ประโยชน์ในงานธุรกิจ ซึ่งมีขอบข่ายการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ในการทำงานด้านธุรกิจ ซึ่งมีขอบข่ายการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนษย์ในการทำงานด้านธุรกิจทั่วไป
1.1.4 ประโยชน์ของความรู้ทางจิตวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา ซึ่งช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจพื้นฐานที่มาแห่งพฤติกรรมของบุคคลทั้งพฤติกรรมปกติและอปกติ ช่วยให้เกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น จากความเข้าในดังกล่าว เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาในหลายประการดังนี้
1.1.4.1 ประโยชน์ในด้านการดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพคือการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ช่วยให้ยอมรับตนเอง ยอมรับผู้อื่น ทั้งในส่วนดีและไม่ดี ซึ่งนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นสุข โดยเป็นแนวทางให้ใช้ส่วนดีซึ่งแต่ละคนมีต่าง ๆ กันมาเป็นประโยชน์แก่งาน แก่กิจกรรมที่ปฏิบัติ สำหรับส่วนไม่ดี เมื่อยอมรับแล้ว ทำให้วางตนได้ตามสบาย ไม่เครียด ไม่ปิดบังซ่อนเร้นหรือระวังตัวมาก ปรับตนเข้ากับคนทั่วไปได้ มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น
1.1.4.2 ประโยชน์ในด้านการแก้ไข และป้องกันปัญหาทางจิตวิทยาช่วยให้ผู้ศึกษาได้ทราบที่มาของพฤติกรรมปกติและอปกติ ในรายที่ผิดปกติ การทราบสาเหตุแห่งพฤติกรรมจะช่วยเป็นแนวทางในการแก้ไข ช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าต้องแก้ไขที่สาเหตุตรงไหนอย่างไร และระดับใดจะช่วยได้ด้วยตนเอง ระดับใดควรส่งถึงมือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากนั้นยังเป็นแนวทางแก่ผู้ศึกษาที่จะค้นคว้าหาวิธีการป้องกันปัญหาพฤติกรรมเสียแต่ต้นมือ
1.1.4.3 ประโยชน์ในด้านการพัฒนาสร้างเสริม คือ จิตวิทยานอกจากช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจที่มาของพฤติกรรมปกติ และพฤติกรรมอปกติแล้ว ยังช่วยให้ผู้ศึกษาได้แนวทางในการพัฒนาสร้างเสริม ควบคุมพฤติกรรมของคนเองและผู้อื่นให้เหมาะสมแก่งาน แก่กิจกรรมแก่สถานะและบทบาทของแต่ละบุคคล เป็นแนวทางนำจุดดีในตนและผู้อื่นมาเป็นประโยชน์แก่งาน แต่ทั้งนี้ผู้ศึกษาก็ควรต้องเรียนรู้โดยลึกซึ้งเฉพาะทางในการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ในงานหรือกิจกรรมนั้น ๆ
1.2 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาอุตสาหกรรม
1.2.1 ความหมายของวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรม
จิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยพฤติกรรมของมนุษย์ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการนำความรู้เรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ไปใช้ในกิจกรรมทางอุตสาหกรรม เกี่ยวกับพฤติกรรมในการจัดการและการวางแผนงาน อุตสาหกรรมการผลิต การโฆษณาสื่อสาร การจำหน่าย การบริโภค และการบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในการดำเนินงานอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำทฤษฎีและหลักการทางจิตวิทยาไปช่วยพัฒนาและแก้ปัยหาด้านพฤติกรรมของมนุษย์ที่ดำเนินงานอุตสาหกรรม ทั้งด้านการสร้างสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานและการวางตนตามบทบาทหน้าที่ในหน่วยงาน
จากความหมายของจิตวิทยาอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการศึกษาจิตวิทยาอุตสาหกรรมนั้น จะต้องศึกษาตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรม ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานอุตสาหกรรม แล้วหาวิธีการนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมนั้นไปใช้ประโยชน์ในงานอุตสาหกรรมทุกด้าน ทุกขั้นตอน นับแต่ขั้นตอนการเริ่มงานอุตสาหกรรม การผลิต การติดต่อสื่อสาร โฆษณา ประชาสัมพันธ์ การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและการให้บริการที่สนองความพอใจของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้โดยผู้ให้บริการก็ทำงานได้ด้วยความสุขความพอใจ เจ้าของกิจการก็ประสบความสำเร็จและเกิดความสุขความพอใจในงาน จึงเห็นได้ว่า การที่จะได้ชื่อว่าใช้จิตวิทยาเป็นนั้นต้องก่อให้เกิดความพึงพอใจหรือโดยสมัครใจกับทุกฝ่าย
1.2.2 ความเป็นมาของจิตวิทยาอุตสาหกรรม
งานธุรกิจมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีการติดต่อสื่อสาร ไปมาหาสู่กัน ทั้งในระดับครอบครัว ระดับหมู่บ้าน ระดับท้องถิ่น ระดับเมือง และระดับประเทศ เมื่อมีการติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กันก็มีการแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน เช่น แลกเปลี่ยนสัตว์เลี้ยงกับพืชผัก แลกเปลี่ยนอาหารกับเครื่องประดับ ต่อมาแลกเปลี่ยนสิ่งของกับสิ่งของไม่สะดวกก็เปลี่ยนเป็นใช้เงินแลกเปลี่ยนสิ่งของ จากสิ่งของที่จำนวนไม่มากมาย มีตามส่วนเกินความต้องการของครอบครัว ก็กลายเป็นผลิตมากๆ เพื่อการค้า การซื้อขายสินค้าก็ตาม เมื่อสังคมใหญ่และซับซ้อนขึ้นไปอีก ความต้องการสินค้ามีเพิ่มขึ้นเกิดมีผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นตามมา ระบบการแข่งขันทางธุรกิจก็เกิดการแข่งขันทางธุรกิจนั้นเป้นไปทั้งในด้านการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การให้บริการที่ทำให้ได้ลูกค้ามากที่สุด มีการศึกษาค้นคว้า และทดลองการดำเนินงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในรูปแบบมากมาย ได้ทฤษฎีพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่องานธุรกิจอุตสาหกรรมอีกมาก จนในที่สุดเริ่มมีการศึกษาค้นคว้าธรรมชาติพฤติกรรมมนุษย์ในงานธุริกจอุตสาหกรรมกันอย่างแพร่หลายและอย่างจริงจัง จนได้เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่ง เรียกว่าจิตวิทยาอุตสาหกรรม ซึ่งจัดเป็นจิตวิทยาประยุกต์ ว่าด้วยการนำความรู้ทางพฤติกรรมไปใช้ประโยชน์ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งการที่วิชาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใดต่อผู้ศึกษาขึ้นอยู่กับการเรียนเพียงเพื่อรู้หรือเรียนแล้วลองนำไปปฏิบัติ ประโยชน์จะเกิดต่อเมื่อได้นำความรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง
ในด้านการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิตวิทยาอุตสาหกรรม กล่าวได้ว่าการศึกษาพฤติกรรมในวงการธุรกิจเริ่มอย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกา ใน ค.ศ.1901 หลังจากนั้น เริ่มตื่นตัวต่อมาในอังกฤษ ประเทศทั่วไปในยุโรป อัฟริกา และเอเซีย สมัยแรกๆ ตื่นตัวศึกษาเกี่ยวกับการคัดเลือก การบรรจุพนักงาน วิเคราะห์การทำงาน การฝึกอบรมพนักงาน ต่อมาประมาณ ค.ศ. 1925 เริ่มใช้จิตวิทยาในการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม บุคคลสำคัญที่สนใจศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิตวิทยาในงานอุตสาหกรรม เช่น เทเลอร์ กิลเบอร์ธ สก็อต มันสเตอร์เบอร์ก ซึ่งจะกล่าวเป็นลำดับโดยสังเขป ดังนี้
ค.ศ.1882 เฟรดเดอริค วินสโลว์ เทเลอร์ (Frederick Winslow Taylor) วิศวกรชาวอเมริกัน ทำงานในโรงงานถลุงเหล็ก ศึกษาลักษณะการทำงานของคนงานในด้านกิริยาท่าทาง การเคลื่อนไหวขณะทำงาน จับเวลาการเคลื่อนไหวและท่าทางในการทำงานแต่ละระยะตั้งแต่เริ่มการทำงาน จนเสร็จงานและได้ข้อสรุปในการทำงานว่า ผลผลิตในการทำงานของพนักงานจะสูงขึ้น ความเหนื่อยจะลดน้อยลงเมื่อทำงานถูกวิธี เป็นที่มาใช้จิตวิทยาในหารคัดเลือกบุคลากร การจัดฝึกอบรม การจัดวางคนให้เหมาะกับงาน การสร้างสัมพันธภาพในหน่วยงาน การสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้าที่เทเลอร์จะนำแนวคิดของเขาไปใช้ในการทำงานของคนงานนั้น พบว่าคนงานมีชั่วโมงการทำงานมาก ทำงานหนัก แต่ผลผลิตกลับได้น้อย
ค.ศ.1885 แฟรงค์ และลิเลียน กิลเบอร์ธ (Frank and Lilian Gilbreth) ศึกษาพฤติกรรมด้านท่าทางและการเคลื่อนไหวของพนักงานในการเรียงก้อนอิฐ ใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของคนงาน จากนั้นเขาคิดวิธีการใหม่ วางขั้นตอนการทำงานและการเคลื่อนไหวของพนักงานใหม่ ย้ายอุปกรณ์บางอย่างให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวและย่นเวลางาน ผลการศึกษาพบว่า เมื่อวางแผนอย่างดี พนักงานเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ได้งานมากขึ้นในเวลาเท่าๆ กัน และคนงานเหนื่อยน้อยลง ความเมื่อยล้าลดน้อยลงด้วย
ค.ศ.1903 วอลเตอร์ ดิล สก็อต (Walter Dill Scott) เขียนตำรา “จิตวิทยาวิทยาการโฆษณา” นำจิตวิทยาเข้าไปใช้ในการขายและการโฆษณา มีชื่อเสียงและได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาประยุกต์ใน ค.ศ.1915 ต่อมาศึกษาวิทยาด้านการคัดเลือกบุคลากรให้เหมาะกับงาน และตั้งบริษัทให้บริการแนะแนวและคำปรึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาอุตสาหกรรมและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และนับได้ว่า สก็อตเป็นนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมคนแรกที่ได้ริเริ่มนำเอาหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม
ค.ศ.1913 ฮิวโก มันสเตอร์เบอร์ก (Hugo Munsterberg) เขียนตำรา”จิตวิทยาและประสิทธิภาพของงานอุตสาหกรรม” ว่าด้วยการนำจิตวิทยาไปใช้ในการคัดเลือกบุคลากรและการฝึกอบรมเพื่อการปรับปรุงงานและระบุความสำคัญของจิตวิทยาต่องานธุรกิจซึ่งช่วยให้ทราบความแตกต่างด้านความสามารถและบุคลิกภาพของพนักงาน ช่วยจัดวางตัวพนักงานในงานต่างๆ ช่วยให้ได้แนวทางในการทำให้คนงานทำงานอย่างได้ประสิทธิภาพและเป็นสุขและเป็นแนวทางในการจูงใจคนในงานอุตสาหกรรม
ที่กล่าวมา เป็นความเป้นมาโดยสังเขปของการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาอุตสาหกรรมในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทย การนำจิตวิทยาไปประยุกต์ในวงการต่างๆ มีมานานแล้ว ทั้งในด้านการปกครองและการเมือง ที่จัดว่าเป็นการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมจริงๆ นั้น เช่น ด้านการประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร การจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ให้แก่บุคลากรในหน่วยงานอุตสาหกรรม จนกระทั่งต่อมามีการนำศาสตร์ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ด้านอื่นๆ ในหน่วยงานอุตสาหกรรมและแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
1.2.3 ขอบข่ายของจิตวิทยาอุตสาหกรรม
จิตวิทยาอุตสาหกรรมเป็นสาขาวิชาทางจิตวิทยาที่มีการศึกษาครอบคลุมถึงการผลิตและการใช้สินค้า รวมทั้งการจัดบริการในการวงการเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และการจัดการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ โดยภาพรวมแล้วจะมุ่งศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ของงานอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกระดับ ผลจากการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตด้านอุตสาหกรรมและนำไปใช้ประกอบการแก้ไขปัญหาของงานอุตสาหกรรมที่อาจต้องใช้ข้อมูลความรู้ของศาสตร์สาขาอื่นด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการสื่อสาร ด้านสถาปัตยกรรม ด้านการออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์นั้นจะต้องดำเนินการและเก็บข้อมูลไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะสภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเสมอ
1.2.4 วิวัฒนาการของจิตวิทยาอุตสาหกรรมในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย ทางด้านวิชาการได้เริ่มมีการสอนวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมขึ้น ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เป็นครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2507 ในระดับปริญญาตรีแต่ยังไม่ได้ให้นักศึกษาเรียนเป็นวิชาเอกโดยตรง ตำราวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมเล่มแรกของไทยเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2511 โดยนายเด่นพงษ์ พลละคร ต่อมาก็ได้มีตำราจิตวิทยาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีกหลายเล่ม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เปิดสอนสาขานี้โดยตรงในระดับปริญญาตรี สำหรับระดับปริญญาโท มีเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หนังสือจิตวิทยาอุตสาหกรรม ซึ่งนายเด่นพงษ์ พลละคร ได้เขียนขึ้นมานั้น นอกจากจะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ในวงการอุตสาหกรรม นักบริหารทางอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวในการรับเอาเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ตลอดจนมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์มากยิ่งขึ้น จึงได้ให้ความสนใจและนำความรู้ในด้านนี้ไปใช้ในการบริหารงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัจจุบันสังคมไทยกำลังพัฒนาไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ดังนั้นความจำเป็นในการนำความรู้ทางจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ไปใช้ในการจัดการทางอุตสาหกรรม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ
1.2.5 สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร
ปัจจุบัน จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้มีการแตกกิ่งก้านเป็นสาขาเฉพาะด้านต่างๆ ดังนี้
1.2.5.1 จิตวิทยาบุคลากร (Personnel Psychology) เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการนำความรู้ ด้านความแตกต่างระหว่างบุคคลมาประยุกต์ เพื่อใช้ในการคัดเลือก หรือกำหนดทักษะและความสามารถพิเศษของมนุษย์ให้เหมาะสมกับงานประเภทต่างๆ สนใจในการประเมินศักยภาพของลูกจ้าง การจัดอันดับผลงานของลูกจ้าง การฝึกอบรวมเพื่อพัฒนาการทำงานของคนงาน จิตวิทยาบุคลากรเป็นสาขาที่เก่าแก่ของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ที่สืบทอดมาช้านาน โดยเฉพาะในตอนต้นจิตวิทยาบุคลากรกับจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร หันความสนใจไปยังเรื่องอื่นๆ จึงทำให้จิตวิทยาบุคลากรกลายมาเป็นเพียงสาขาหนึ่งของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรในปัจจุบัน
1.2.5.2 พฤติกรรมองค์กร (Oranizational Behaviour) เป็นสาขาใหม่ของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิทธิพลขององค์กรที่มีต่อเจตคติและพฤติกรรมของบุคคลที่อยู่ในองค์กรนั้น หัวข้อที่สาขานี้ให้ความสนใจคือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับบทบาทและพฤติกรรม แรงกดดันของกลุ่มที่มีผลกระทบต่อบุคคล ความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ตลอดจนกระบวนการสื่อสารภายในองค์กร เนื่องจากในองค์กรเป็นลักษณะของการรวมกลุ่มทางสังคม จึงมีการทำวิจัยพฤติกรรมในองค์กรที่เกี่ยวข้องอิทธิพลของสังคมแบบต่างๆ ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างจิตวิทยาบุคลากรกับพฤติกรรมองค์กรแล้ว จิตวิทยาบุคลากรจะเกี่ยวกับปัญหาระดับบุคคล แต่พฤติกรรมองค์กรจะเกี่ยวกับปัญหาระดับสังคมและอิทธิพลของกลุ่มมากกว่า สาขาพฤติกรรมองค์กรนี้เป็นสาขาที่วงการธุรกิจ และวิชาการด้านอื่นๆ นำมาศึกษาอยู่มากเช่นเดียวกัน
1.2.5.3 จิตวิทยาวิศวกรรม (Engineering Psychology) เป็นสาขาที่สนใจด้านระบบการทำงานของคนกับเครื่องจักร หรือที่เรียกว่า “man-machine systems” ซึ่งจะต้องครอบคลุมในเรื่องของการออกแบบเครื่องมือเครื่องจักร เพื่อส่งเสริมผลผลิตและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของคนงาน การออกแบบเครื่องจักรกลต่างๆ นั้นจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดทางความแข็งแรงและความสามารถทางกายของมนุษย์ เช่น ความไวต่อการโต้ตอบ การประสานงานของระบบประสาทสัมผัส เป็นต้น นักจิตวิทยาวิศวกรรมจะต้องพยายามปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะกับความสามารถ และทักษะของมนุษย์ สาขานี้อาจมีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น Human factors Psychology และ Ergonomics เป็นต้น
1.2.5.4 การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพ (Vocational and Career Counseling) สาขานี้คาบเกี่ยวกันระหว่างสาขาการให้คำปรึกษา กับจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ในขณะที่การให้คำปรึกษาใช้สำหรับบุคคลที่มีปัญหาในการปรับตัว การให้คำปรึกษาทางด้านอุตสาหกรรม ช่วยคนงานในการตัดสินใจเลือกสิ่งตอบแทนที่เป็นรางวัลหรือความพอใจในการทำงาน ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างความสนใจในงาน และไม่ใช่งาน การปรับตัวกับงานที่น่าสนใจ และการเตรียมตัวเมื่อถึงเวลาเกษียณ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรที่สนใจด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพก็จะทำการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว
1.2.5.5 การพัฒนาองค์กร (Organization Development) ในสาขานี้จะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร จะต้องสามารถวินิจฉัยปัญหาขององค์การได้ สามารถให้คำแนะนำทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและประเมินประสิทธิภาพของการเปลี่ยนแปลงได้ การพัฒนาองค์กรจะเกี่ยวข้องกับการวางแผน วางจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกี่ยวกับคนและกระบวนการทำงานหรือเทคโนโลยี การพัฒนาองค์กรเป็นแขนงที่ใหม่ที่สุดของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
1.2.5.6 อุตสาหกรรมสัมพันธ์ หรือแรงงานสัมพันธ์ (Industrial Relations or Labour Ralations) เป็นสาขาสุดท้ายของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร จะเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่าง นายจ้าง และลูกจ้าง โดยเฉพาะสหภาพแรงงาน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรสนใจในแรงงานสัมพันธ์ เช่น ความร่วมมือ การขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนงาน การต่อรอง การตกลงยินยอมระหว่างส่วนต่างๆ ของแรงงาน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมที่ทำงานด้านนี้จะต้องมีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ชำนาญด้านแรงงานสัมพันธ์ คือต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน สิทธิของลูกจ้าง และผลประโยชน์ของกลุ่ม เป็นต้น
จากสาขาต่างๆ ของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร ที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่าจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เป็นสาขาที่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชาชีพและบทเรียนก็มักจะคาบเกี่ยวกัน เพราะเกี่ยวข้องกับคนและการทำงานนั่นเอง
1.2.6 บทบาทหน้าที่ ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมสำหรับบทบาทหน้าที่ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรอย่างกว้างๆ ซึ่งกำหนดไว้ในสาขาที่ 14 ของสมาคมนักจิตวิทยาอเมริกัน ในส่วนที่เรียกว่า The Psychologist in Industry เมื่อปี ค.ศ.1959 มีดังนี้
1. การคัดเลือกและการทดสอบ
2. การพัฒนาการจัดการ
3. การให้คำปรึกษา
4. การจูงใจคนงาน
5. วิศวกรรมมนุษย์
6. การวิจัยตลาด
7. การวิจัยด้านประชาสัมพันธ์
แต่ทิฟฟิน และแมคคอร์มิกค์ ได้อธิบายถึงหน้าที่และกิจกรรมต่าง ของนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรไว้ 4 ประการ คือ
1. การวิจัย
2. การเป็นที่ปรึกษา
3. การพัฒนาโปรแกรม
4. การประเมินผลบุคคล
หน้าที่ทั้ง 4 ประการนี้ ถือว่าเป็นหน้าที่พื้นฐาน ส่วนหน้าที่อื่นก็มี เช่น การบริหาร โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล แต่ถ้าทำงานด้านนี้เราก็ไม่เรียกว่านักจิตวิทยา ถึงแม้จะนำภูมิหลังทางด้านจิตวิทยามาใช้ก็ตาม
รายละเอียดในหน้าที่หลัก 4 ประการ มีดังต่อไปนี้
1.2.6.1 หน้าที่ในการวิจัย การวิจัยคือ การค้นหาข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์กับปัญหาต่างๆ ได้เช่น อาจจะวิจัยวิธีการฝึกอบรมชนิดหนึ่งว่า จะมีประสิทธิภาพต่อการฝึกอบรมคนงานในลักษณะงานใด หรือวิจัยถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและจูงในการทำงานของคนงาน เป็นต้น
1.2.6.2 หน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษา นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรผู้ทำหน้าที่นี้มักจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมด้านความถนัดในการทำงานของคน การจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรม การฝึกอบรมด้านการจัดการ การให้คำปรึกษาแนะนำหรือทำงานร่วมกับวิศวกรออกแบบเครื่องจักรกล เช่น การให้คำปรึกษาว่ามนุษย์ควรทำอะไรได้บ้างในยานอวกาศ หรือจะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยขณะคุมเครื่องจักรทำงาน รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านโฆษณาสินค้าต่างๆ เป็นต้น
1.2.6.3 หน้าที่ในการพัฒนาโปรแกรม ในบทบาทนี้ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรจะทำหน้าที่ช่วยดำเนินการ และจัดการเกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ เช่น โปรแกรมการทดสอบบุคลากร โปรแกรมการฝึกอบรม โปรแกรมการประเมินผลคนงาน โดยอาศัยความรู้เทคนิคและวิธีการต่างๆ ทางด้านจิตวิทยา เช่นกระบวนการกลุ่มและมนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น
1.2.6.4 หน้าที่ในการประเมินผลบุคคล นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรจะต้องทำหน้าที่ให้บริการทางการประเมินผลแก่บุคคลตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของโรงงานหรือองค์กรนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการประเมินผลมักจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเรื่องการว่าจ้างคนงาน การเลื่อนตำแหน่ง หรือค่าจ้างให้สูงขึ้นหรือเกี่ยวกับงานการบริหารบุคลากร บางครั้งอาจเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาหารือแก่แต่ละบุคคลโดยเฉพาะก็ได้ เทคนิคที่ใช้ในการประเมินผลได้แก่ การสัมภาษณ์ และการทดสอบ
นอกจากหน้าที่หลัก 4 ประการดังกล่าวแล้ว นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรยังมีกิจกรรมปลีกย่อยที่ต้องกระทำตลอดเวลา เช่น การสร้างและพัฒนาแบบทดสอบ การดำเนินการสอบและการให้คะแนน การแปรผล และการประเมินผล การสัมภาษณ์บุคคลเพื่อรวบรวมข้อมูลการวิจัย ซึ่งอาจจะเป็นโครงการศึกษาวิจัยหรือโครงการเกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแก่บุคลากรทางด้านการจัดการ ได้แก่ หัวหน้างาน วิศวกรและผู้อื่นเกี่ยวกับการตัดสินหรือการดำเนินงานซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับคุณลักษณะของมนุษย์ เช่น ทางด้านการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การออกแบบเครื่องมือ ความสัมพันธ์กับคนงานและการดำเนินการโฆษณา เป็นต้น
บทสรุป
จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติพฤติกรรมของบุคคล ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจสาเหตุแห่งพฤติกรรม ทำนายแนวโน้มของพฤติกรรมและสร้างสิ่งเร้าเพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุคคล เดิมเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา ต่อมาจัดเป็นวิทยาศาสตร์เนื่องจากใช้วิทยาศาสต์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติพฤติกรรม จิตวิทยาประกอบไปด้วยหลายสาขา สำหรับจิตวิทยาอุตสาหกรรม จัดเป็นส่วนหนึ่งของสาขาจิตวิทยาประยุกต์ ให้ความรู้ในเรื่องพฤติกรรมเชิงอุตสาหกรรม ทั้งพฤติกรรมเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่าย การให้บริการ รวมไปถึงพฤติกรรมในการบริหารงานอุตสาหกรรม การจัดการงานบุคคล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงอุตสาหกรรม จัดเป็นศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ ลดโอกาสของความล้มเหลวและช่วยให้งานอุตสาหกรรมดำเนินไปได้โยราบรื่นในบรรยากาศของความสุข พอใจร่วมกันทั้งฝ่ายผู้บริหาร พนักงาน และผู้ใช้บริการ ทั้งยังเป็นแนวทางให้ผู้ดำเนินงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างเหมาะสม อันเป็นปัจจัยสนับสนุนประสิทธิภาพของการทำงานได้เป็นอย่างดี
http://dit.dru.ac.th/home/023/psychology/chap1.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น