วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดภาวะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ

Leadership # 28

แนวคิดภาวะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงของสหประชาชาติ

รศ. สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์


http:// suthep.ricr.ac.th



ในการประชุมของสหประชาชาติเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (UN Conference on Human Settlements) เมื่อปี 1996 ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อจัดทำ “วิสัยทัศน์ชุมชนในศตวรรษที่ 21 ของสหประชาชาติ” ขึ้น โดยผู้เข้าประชุมเป็นผู้นำด้านต่าง ๆ ระดับโลกจำนวนมาก มีการนำเสนอและอภิปรายถึง “ความเป็นปึกแผ่นหรือ Solidarity” และ “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change) “ จากนักการเมือง นักจิตวิญญาณ และนักการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก ที่มาร่วมกันกำหนดเป้าหมาย การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของโลก (Global oneness) ขึ้น มีการพูดถึง การพยายามรวมคนที่อยู่อย่างกระจัดกระจายกันในเมืองใหญ่ ๆ เข้าด้วยกันให้กลายเป็นชุมชนใหม่ต่าง ๆขึ้น ในเมืองใหญ่นั้น จากนั้นก็จะใช้กลยุทธ์ใหม่ทางจิตวิทยา (Psychological approach ) รวมทั้งกระบวนการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Dialectic process) ทำการฝึกอบรมคนเหล่านี้ในเรื่อง “วิธีคิดใหม่ หรือ A new way of thinking” และ “การอยู่ร่วมอย่างมีสัมพันธภาพต่อกันหรือ Living and relating to one another” เป็นต้น มีคำพูดสำคัญของผู้เข้าร่วมประชุม เช่น


Millard Fuller, ประธานคณะกรรมการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ กล่าวว่า “จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดทั้งหมดของท่านใหม่ เพราะจะมีระบบระเบียบใหม่ด้านจิตวิญญาณเข้ามาเผชิญหน้าและท้าทายท่าน”


ส่วน Federico Mayor ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ประชากรของโลกในศตวรรษหน้าจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน โดยนครใหญ่ในห้วงเวลาดังกล่าวจะต้องปรับเปลี่ยนไปเป็น “นครแห่งความเป็นปึกแผ่นทางสังคม หรือ A city of social solidarity” ทั้งนี้ทำให้เราต้องมาให้นิยามใหม่ ของคำว่า “Social contract หรือ พันธะสัญญาทางสังคม”



Dr. Ismail Serageldin รองประธานธนาคารโลก เห็นว่า เราควรหยุดบ่นและมองการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่ในแง่ร้าย เพราะเป็นสิ่งที่อย่างไรเสียก็ต้องเกิดเช่นนั้นและควรมองเป็นเรื่องที่ดีว่า ปรากฎการณ์เช่นนี้ช่วยบ่งบอกถึงขนาดและปริมาณของการเปลี่ยนสภาพ (Transformation) และการเปลี่ยนแปลงของสังคม (Social Change)ให้เราทราบตามสภาพเป็นจริง ปัญหาจึงต้องอยู่ที่เราต่างหากว่า จะทำให้การเปลี่ยนสภาพและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง (Right direction)ได้อย่างไร และสุดท้ายยังให้ข้อคิดว่า “สื่อมวลชนต้องทำตัวและแสดงบทบาทหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการทางการศึกษา ช่วยสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้และช่วยในการต่อต้านลัทธิปัจเจกนิยม (Individualism)


ดังนั้น จึงต้องทำให้ความเป็นลัทธิปัจเจกนิยมในสังคมลดน้อยลง โดยมีสิ่งที่เข้ามาแทนที่คือ การคิดร่วมกันแบบกลุ่ม (Collective thinking) การสร้างภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ (Strategic leadership) และการช่วยเอื้ออำนวยการเรียนรู้ (Facilitated learning) ซึ่งจะต้องเข้ามาอยู่ในสังคมแทน แต่การที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเช่นว่านี้ได้ จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่มีศักยภาพสูงและมีคุณลักษณะที่เหมาะสมขึ้นใหม่จำนวนมาก เพื่อร่วมช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี ให้เป็นโลกที่น่าอยู่และมีความหวังให้แก่ทุกคน


ยุคนี้จึงเป็นยุคของการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ให้มีจำนวนมาก (A critical mass of transformational leaders) ซึ่งคนเหล่านี้มีพันธะผูกพันต้องกลับไประดมและสร้างเสริมการใช้พลังทำงานร่วมกันแบบทวีคูณ (Creating a synergy of energy) ให้เกิดขึ้นในที่ทำงานหรือในชุมชนของตน และครอบคลุมได้อย่างกว้างขวางจนทั่วสังคม ซึ่งจะมีอิทธิพลมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงต่อการยกระดับใหม่ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านองค์การและจิตวิญญาณแห่งความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผู้นำอย่างที่เราต้องการให้ทำหน้าที่อันสูงส่ง (Noble task) เช่นนี้ได้ จำเป็นต้องดึงศักยภาพด้านภาวะผู้นำ (Un-tap the leadership potential) และทักษะของผู้นำที่เคยประสบความสำเร็จโดยตรงมาแล้วในองค์การและระบบงานต่างๆของสังคมให้ มาร่วมกันผนึกกำลัง จากการที่ผู้นำเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถสูงและผูกพันต่อวิชาชีพของตนมายาวนาน จะสามารถนำประสบการณ์แห่งความสำเร็จของตนมาสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ให้ออกไปผนึกกำลังกับชุมชนของตนอีกต่อหนึ่ง จนเกิด “พลังการทำงานเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ หรือ Synergy of energy” ขึ้นจนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่พึงปรารถนาได้ในที่สุด


ดังนั้น กระบวนทัศน์ใหม่และแนวคิดของการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (Transformational leadership) จึงไม่จำกัดวงอยู่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นภาวะผู้นำที่สามารถใช้ได้กับหน่วยภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การท้องถิ่น ตลอดจนองค์การสาธารณะอื่น เช่น ด้านศาสนา ด้านการบริหารต่าง ๆ ที่มิมุ่งผลกำไร เป็นต้น ซึ่ง Rick Warren นักเขียนหนังสือชื่อดังและเป็นศาสนาจารย์อาวุโสทางคริสต์ศาสนาได้พยายามนำหลักการของทฤษฎีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Transformational leadership theory) กับหลักการ 7 ประการที่ได้มาจากที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติดังกล่าว มาสร้างต้นแบบของผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สามารถก่อให้เกิด “พลังการทำงานเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ หรือ Synergy of energy”


หลักการ 7 ประการของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดพลังการทำงานเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ (Seven Principles of Transformational Leadership…. Creating A Synergy of Energy) มีแนวคิดดังนี้






หลักการที่ 1 : หลักการ “ทำให้เป็นเรื่องง่าย” (Principle of Simplification)






ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ร่วม (Shared purpose) ซึ่งผู้นำจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ให้เกิดความชัดเจน (Clear) สามารถปฏิบัติได้ (Practical) ด้วยการปรับเปลี่ยนจากคำว่า “วิสัยทัศน์” ซึ่งเป็นนามธรรม โดยการใช้วิธีตั้งคำถามเพื่อให้ได้คำตอบ เช่น ถามว่า “นี่เราจะมุ่งหน้าไปทางไหนกันล่ะ (Where are we headed?) เป็นต้น หรือใช้วิธีสอนด้วยการเล่าเรื่องง่ายๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น เล่านิทานเรื่อง ช่างตัดหิน (The stonecutters) ว่า ช่างตัดหินคนที่ 1 พูดว่า “ฉันจะตัดหินออกเป็นแผ่น” ช่างตัดหินคนที่ 2 พูดว่า “ฉันจะแกะสลักหินให้เป็นแผ่นศิลาฤกษ์” ส่วนคนสุดท้าย พูดว่า “ฉันจะสร้างหอแสดงดนตรีด้วยหินเหล่านี้” ซึ่งคำตอบที่เหมาะสมและมีวิสัยทัศน์ก็คือ คำพูดของคนสุดท้ายนั่นเอง ดังนั้นในการอบรมพัฒนานักศึกษาในเรื่องวิสัยทัศน์ ก็อาจถามว่า นักศึกษามองว่าตัวเองจะสามารถสร้างผลกระทบต่อหน่วยงาน ต่อชุมชนที่ตนอยู่ ต่อประเทศชาติ และต่อโลกได้อย่างไร หรือถ้าเป็นเรื่องทีมงาน ก็ควรอภิปรายถึงเป้าหมาย (Goals) วัตถุประสงค์ (Objectives) และวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ทีมเกิดเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวขึ้น เป็นต้น


การประเมินตนเอง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงต้องมีความสามารถทำวิสัยทัศน์ให้เกิด


ความชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้


คำถาม : ข้าพเจ้าสามารถทำให้วิสัยทัศน์มีความชัดเจนและทุกคนเข้าใจ


ได้ง่าย


คำตอบ: ไม่เคย---------------------บางครั้ง---------------------------เป็นประจำ


หลักการที่ 2 : หลักการ “การจูงใจ” (Principle of Motivation)

หมายถึง ความสามารถของผู้นำในการทำให้คนอื่นเห็นพ้องยอมรับและยึดมั่นผูกพันกับวิสัยทัศน์ของตน กล่าวคือ เมื่อผู้นำสามารถนำพลังร่วม (Synergy) เข้าสู่องค์การได้แล้ว ผู้นำจะต้องทำทุกวิถีทางในการเสริมพลัง (Energize) หรือจูงใจ (motivate) ต่อคนเหล่านั้น ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่น ก็คือ การสร้างความท้าทาย (Challenge) และการเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องใช้กระบวนการสร้างสรรค์ (Creative process) และเมื่อทำได้สำเร็จก็ให้คำชมหรือให้เกียรติยกย่อง เป็นต้น


การประเมินตนเอง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงต้องมีประสิทธิผลสูงในการทำให้ผู้อื่น เห็นด้วยยอมรับและเกิดความยึดมั่นผูกพันขึ้น


คำถาม : ข้าพเจ้าสามารถทำให้ผู้อื่นคล้อยตามเห็นด้วยและผูกพันต่อวิสัยทัศน์
ของข้าพเจ้า


คำตอบ : ไม่เคย_____________บางครั้ง _____________เป็นประจำ



หลักการที่ 3 : หลักการ “การเอื้ออำนวยความสะดวก” (Principle of Facilitation)



หมายถึง ความสามารถของผู้นำในการเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล ของทีมงานและของผู้อื่นซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่ง Peter Senge ปรมาจารย์ด้านองค์การแห่งการเรียนรู้ระบุไว้ ในวินัยที่ 5 (The Fifth Discipline) ของงานเขียนชื่อดังของตนว่า ปัจจุบันภารกิจที่สำคัญของผู้นำก่อนอื่นใดก็คือ ต้องทำหน้าที่ในการเอื้ออำนวยให้คนอื่นมีการเรียนรู้ เพราะยิ่งหน่วยงานใดมีบุคลากรที่มีนิสัยใฝ่ใจที่จะเรียนรู้อยู่เนื่องนิตย์มากเท่าไรก็ยิ่งเหมือนการเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์อันยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้นำ ให้สามารถนำพาองค์การเพื่อเอาชนะภาวะการณ์ท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีผลสำเร็จ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจอันสูงส่งให้เป็น “ผู้ให้บริการ” (Steward) แก่บุคลากรต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นทุนทางปัญญา (Intellectual capital) ขององค์การ






การประเมินตนเอง : ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องมีความสามารถในการเอื้ออำนวยการ


เรียนรู้ของบุคลากรเป็นรายบุคคล เป็นทีมและผู้ที่เป็นทรัพยากร


อื่น ๆ ขององค์การ


คำถาม : ข้าพเจ้าทำการเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของผู้อื่น


คำตอบ : ไม่เคย____________บางครั้ง_____________ เป็นประจำ


หลักการที่ 4 : หลักการแห่ง “การริเริ่มสิ่งใหม่” (Principle of Innovation)


หมายถึง ความสามารถของผู้นำที่กล้าหาญในการริเริ่มเปลี่ยนแปลง ถ้ามีจำเป็น แม้ว่า สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงยากเพียงไรก็ตาม กล่าวคือในองค์การที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลได้นั้นเป็นเพราะมีสมาชิกที่สามารถคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และมิได้รู้สึกหวั่นกลัวต่อเหตุการณ์นั้น ผู้นำต้องสามารถที่จะริเริ่มและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างฉับพลัน โดยทีมงานที่ประสบความสำเร็จมักมีสมาชิกที่แต่ละคนต่างทำหน้าที่ช่วยกันซึมซับและเผยแพร่ถึงการเปลี่ยนแปลงให้แก่กัน ทั้งนี้เพราะผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงได้สร้างความไว้วางใจและสร้างการทำงานแบบทีมไว้รองรับเป็นอย่างดี






การประเมินตนเอง : ความสามารถของผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก ๆ ได้สำเร็จ


และมีประสิทธิผล


คำถาม : ข้าพเจ้ามีความสามารถริเริ่มการเปลี่ยนแปลงเรื่องยาก ๆ ได้อย่าง


มีประสิทธิผล


คำตอบ : ไม่เคย____________บางครั้ง ____________เป็นประจำ




หลักการที่ 5 : หลักการ “ด้านการขับเคลื่อน” (Principle of Mobilization)



หมายถึง ความสามารถของผู้นำในการระบุปัญหา การจัดปัจจัยสนับสนุน และการมอบอำนาจการตัดสินใจแก่ผู้ปฏิบัติงานให้สามารถดำเนินการบรรลุผลได้ตามวิสัยทัศน์ โดยผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงจะแสวงหาสมาชิกที่เต็มใจอาสาเข้าร่วม ทั้งกลุ่มผู้นำระดับรองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว และคนอื่น ๆ ที่มิได้มอบหมายให้ต้องรับผิดชอบแบบทางการ ผู้นำปรารถนาที่จะสร้างผู้นำใหม่ขึ้นในทุกระดับ จึงพยายามเชิญชวนบุคคลต่างๆเข้ามาร่วมงานและจุดประกายให้เกิดภาวะผู้นำขึ้นในบุคคลเหล่านี้ โดยใช้กลยุทธ์ง่าย ๆ ในการสร้างภาวะผู้นำก็คือ การขยายขอบเขตและโอกาสด้านทำงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างภาวะผู้นำขึ้นจากการทำงานนั้นได้อย่างทั่วถึงกัน






การประเมินตนเอง : ความสามารถของผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในการระบุปัญหา การจัดปัจจัย และการมอบอำนาจการตัดสินใจแก่ผู้ปฏิบัติให้บรรลุตามวิสัยทัศน์


คำถาม : ข้าพเจ้าได้สร้างภาวะผู้นำขึ้นในบุคคลจำนวนมากที่ปฏิบัติให้


วิสัยทัศน์เป็นจริง


คำตอบ : ไม่เคย_________บางครั้ง__________เป็นประจำ



หลักการที่ 6 : หลักการเตรียมความพร้อม (Principle of Preparation)


หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติตนเอง เพื่อมิให้หยุดการเรียนรู้ (Never stop learning) โดยไม่จำเป็นให้ใครต้องคอยช่วยเหลือดูแลในเรื่องนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น ซึ่ง Rick Warren กล่าวว่า “ผู้นำคือผู้เรียนรู้ หรือ Leaders are learners” ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงตระหนักดีว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตนกำลังดำเนินการอยู่นั้น แท้จริงสะท้อนมาจากจิตวิญญาณแห่งการแสวงหา (Spiritual quest) ของตนที่ต้องการใช้ความสามารถและพรสวรรค์ที่ตนมีเพื่อการรับใช้ผู้อื่นทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ทำก็คือพันธกิจแห่งชีวิตที่ต้องให้สำเร็จ ด้วยการมีทัศนคติ (Mindset) และความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง จะกระตือรือร้นและขยันขันแข็งต่อการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และจะพยายามสร้างสัมพันธภาพระหว่างตนกับบุคคลอื่น ๆ ที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ให้เจริญงอกงาม โดยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเช่นนี้ ย่อมช่วยสร้างโอกาสของชีวิตและช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ให้หมดไป เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความรักปรารถนาดีและพร้อมให้ความช่วยเหลือต่อกัน






การประเมินตนเอง : ความสามารถของผู้นำที่จะไม่หยุดการเรียนรู้ ไม่ว่ามีหรือไม่มี


ใครช่วยเหลือก็ตาม


คำถาม : ข้าพเจ้าเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และมีการปรับปรุงตนเอง


คำตอบ : ไม่เคย___________บางครั้ง__________เป็นประจำ



หลักการที่ 7 : หลักการแห่ง “การสิ้นสุด” (Principle of Determination)






หมายถึง ความสามารถของผู้นำที่รู้ว่าเมื่อไรควรหยุด และยอมรับว่าบัดนี้การแข่งขันได้จบสิ้นแล้ว (The ability to finish the race) คือเป็นผู้ที่รู้จักการพอในเวลาที่สมควรหรือเหมาะสม ปกติโดยความเป็นจริงแล้ว การเป็นผู้นำบางครั้งต้องเผชิญกับภารกิจที่ยากลำบากต่อความสำเร็จสูง บ่อยครั้งต้องเดินบนเส้นทางการเป็นผู้นำอย่างผู้โดดเดี่ยว การเป็นผู้นำจำเป็นต้องอาศัยความแข็งแรงทางกาย ต้องมีความเพียรพยายามสูง ต้องมีความกล้าแกร่งและความเข้มแข็งในการต้องเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายที่ไม่คาดคิดมาก่อน จนกว่าเวลาจะจบสิ้นลงในแต่ละวัน ทั้งนี้เพราะผู้นำมิใช่เพียงแต่ต้องทำการยกระดับภาวะผู้นำของตนให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ต้องมีหน้าที่ช่วยพัฒนาภาวะผู้นำให้ผู้ร่วมงานอีกด้วย ต้องเผชิญทั้งความหยาบกระด้างและความอ่อนโยนระคนกันไปอันปกติวิสัยของมนุษย์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด บางครั้ง ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงก็เกิดความสงสัยในตนเอง ต้องพบกับภาวะความหมองเศร้าและอ่อนล้าของจิตใจ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาสภาพจิตใจ อารมณ์และสุขภาพกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีพลังใจที่แน่วแน่และยึดมั่นต่อภารกิจที่เป็นพันธะผูกพันอันยากลำบากนั้นให้สำเร็จจงได้ต่อไป









การประเมินตนเอง : ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงต้องรู้จักพอและรู้ว่าเมื่อไรควรหยุด


คำถาม : ข้าพเจ้าสามารถทำใจได้เมื่อภารกิจที่ต้องรับผิดชอบต้องยุติและ


สิ้นสุดลง


คำตอบ : ไม่เคย_________บางครั้ง___________เป็นประจำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น