วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แนวคิดภาวะผู้นำแบบควันตัม (THE QUANTUM LEADERSHIP)

Leadership

# 34


แนวคิดภาวะผู้นำแบบควันตัม (THE QUANTUM LEADERSHIP)


รองศาสตราจารย์สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์


http://suthep.cru.in.th


ยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนของคำว่า ภาวะผู้นำแบบควันตัม หรือ Quantum leadership แต่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยวิธีอธิบายความ โดยคำว่า Quantum leadership หรือ ภาวะผู้นำแบบควันตัม นั้น มาจากมุมมองที่อุปมาเปรียบเทียบกับทฤษฎีทางฟิสิกส์สมัยใหม่คือ หลักวิชา Quantum Physics ที่อธิบายเรื่อง แสง (light) ว่ามีคุณสมบัติเป็นได้ทั้ง สสารและพลังงาน (Light is a particle and a wave) ซึ่งต่างไปจากวิชาฟิสิกส์แบบเก่า(Newtonian Physics) ซึ่งเชื่อว่า แสงเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นและสังเกตได้โดยตรง ทำนองเดียวกับที่เราเชื่อว่า ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวของแต่ละบุคคล (Leadership is in the individual) แล้วก่อให้เกิดการกระทำที่ส่งผลต่อสิ่งต่างๆรอบตัวเรา ซึ่งเราสามารถที่จะสังเกตและมองเห็นได้และเป็นภาวะผู้นำแบบปัจเจกบุคคล(Individual leadership) ส่วนแนวคิดของ ภาวะผู้นำแบบควันตัม (Quantum leadership) มีฐานความเชื่อสำคัญที่ต่างไปจากเดิมก็คือ เชื่อว่า “ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่อยูในตัวของแต่ละบุคคล (Leadership is in the individual) และ ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชน (Leadership is in the community) ด้วย” ซึ่งเป็นภาวะผู้นำแบบยึดชุมชนเป็นฐาน(Community-based leadership) เพียงแต่ว่า ภาวะผู้นำที่อยู่ในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะมองเห็นได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้การสรุปลงความเห็นจากปรากฏการณ์หรือบริบทต่างๆที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ มุมมองใหม่ในการมองภาวะผู้นำเช่นนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อการเป็นนักพัฒนาทางสังคมที่มีประสิทธิผล ที่ต้องทำงานร่วมกับประชาชนในชุมชนเพื่อมุ่งหวังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น


แนวคิด ภาวะผู้นำแบบควันตัม(Quantum leadership) สามารถประยุกต์ใช้ในองค์การที่เป็นแบบทางการ(Formal organization) ได้เช่นกัน โดยยึดหลักการของวิชาควันตัมฟิสิกส์เป็นหลักอุปมาเปรียบเทียบเช่นกัน จึงทำให้บทบาทของผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นผู้กำกับสั่งการ(Directing) ไปเป็นผู้สร้างสรรค์บรรยากาศที่เอื้อให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมและมีอิสระในการปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง ส่งผลให้องค์การนั้นสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์การที่ขับเคลื่อนตนเองได้ (Self-organization) ในประเด็นนี้ บทบาทของ ผู้นำแบบควันตัม (Quantum leaders) จะ ต้องทำให้วิสัยทัศน์ร่วม(Shared vision) เกิดความชัดเจน ส่งเสริมและพัฒนาความเป็นผู้นำตนเองของผู้ร่วมงาน สนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้และการเผยแพร่ความรู้ ให้ความใส่ใจดูแลผู้ร่วมงานโดยยึดหลักขององค์การที่ว่าคนมีความสำคัญสูงสุด จึงต้องถือว่าคนเป็นศูนย์กลางขององค์การ (Person-centered organization) (Wheatley, 1999). ภาวะผู้นำแบบควันตัมเป็นเรื่องของกระบวนการ(Process) มากกว่าเรื่องโดยตำแหน่ง (Position) เป็นคำกริยามากกว่าคำนาม ผู้นำแบบควันตัมมีความกระตือรือร้นที่จะสร้างเครือข่ายองค์การของตนกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นผู้ชอบสร้างความปั่นป่วน (Disturbing)และสับสน(Perturbing) ต่อระบบที่เคยชินอยู่เดิมภายในองค์การ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆขึ้นมาแทน ต้องดูแลเพื่อให้มั่นใจว่า มีการไหลเวียนและการแพร่หลายของข้อมูลสารสนเทศต่างๆในองค์การเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นส่งเสริมการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) (Youngblood,1997).


Quingley (1997) เสนอแนะว่า การเป็นผู้นำแบบควันตัม จะต้องใส่ใจต่อสมรรถนะหลัก(Core competencies)ที่โดดเด่นต่างๆขององค์การอยู่ตลอดเวลาว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างคล้องจองและมีประสิทธิภาพจนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ ผู้นำต้องตรวจสอบจนแน่ใจว่า ระบบต่างๆที่ดำเนินการอยู่นั้นมีทิศทาง(Direction) , มีเป้าหมาย(Aim) และมีวัตถุประสงค์(Purpose) ตลอดจนมีแผนการปฏิบัติ(Action plan)ที่ชัดเจน ผู้นำแบบควันตัมยอมรับในปรีชาสามารถ(Talent)ของผู้ร่วมงานทุกคน จึงให้การใส่ใจดูแล สนับสนุนปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆให้สะดวกต่อการทำงาน รวมทั้งช่วยขยายขีดความสามารถของผู้ร่วมงานให้สูงขึ้นเหมาะสมต่อการปฏิบัติภารกิจที่ค้นคิดขึ้นใหม่ได้สำเร็จ ในการเป็นผู้นำแบบควันตัมที่มีประสิทธิผลได้นั้น การเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อเรื่อง แรงจูงใจ(Motivation) ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้นำจะต้องยึดมั่นต่อหลักการทางคุณธรรม (Moral principles) เป็นฐานในการปฏิบัติและการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกต่อกันของทุกคนภายในองค์การโดยผู้นำเองจะต้องแสดงพฤติกรรมแบบอย่าง (Role model)ด้านคุณธรรมตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและความเป็นบุคคลที่สัตย์ซื่อถือคุณธรรมยึดมั่นหลักการ(Integrity)ของผู้นำและขององค์การโดยรวม แนวคิดภาวะผู้นำแบบควันตัม ถือว่า ความมีอิสระ(Freedom) จำเป็นต้องมีวินัย(Order) และเช่นเดียวกับการมีวินัย ก็จำเป็นต้องมีความอิสระอยู่ด้วยเช่นกัน






เครื่องมือ 7 ประการ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของผู้นำแบบควันตัม


The Seven Drivers of Quantum Leadership


Milewski, J. (2006). ได้เสนอแนวทางหรือกลยุทธ์ซึ่งเรียกว่า เครื่องมือ


ขับเคลื่อน 7 ประการของความเป็นผู้นำแบบควันตัม (The Seven Drivers of Quantum Leadership)ขึ้น เพื่อใช้สำหรับศึกษาและดำเนินงานในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมที่ยึดเอาแนวคิดที่ใช้ “ภาวะผู้นำที่ยึดชุมชนเป็นฐาน หรือ Community-based leadership” ซึ่งแบ่งเป็นกลยุทธ์ 2 ด้าน คือ


ก. ด้านการปรับเปลี่ยนชุมชน (Transforming the Community) ซึ่งประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่


1. สร้างสัมพันธภาพที่เข้มแข็งของชุมชน (Build Strong Community Relationships)


2. สร้างโอกาสให้ชุมชนได้มีการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ (Open the Space for Community Initiative) และ


3. ค้นหาจุดแข็งของชุมชน (Find the Deep Sources of Strength)





ข. ด้านการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของชุมชน (Transforming the Community’s Environment) ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่


4. สามารถเผชิญพายุได้โดยไม่หักโค่น (Face the Wind and Bend Without Breaking)


5. ยื่นมือออกไปสร้างสายสัมพันธ์กับภายนอก (Stretch and Build the Relationships Outward)


6. กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีวัตถุประสงค์ (Encourage Purposeful Learning)


7. นำอนาคตสู่ปัจจุบัน (Bring the Future into Present)






ก. ด้านการปรับเปลี่ยนชุมชน (Transforming the Community)


เมื่อภาวะผู้นำแบบควันตัมเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการที่มีพลวัต สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ก็คือ ชุมชนมีการตื่นตัว มีความริเริ่มและมีความเข้มแข็งของตนเองเกิดขึ้นสมาชิกเริ่มเปลี่ยนจากการจับกลุ่มกันอย่างหลวมๆไปเป็นชุมชนหนึ่งเดียวที่เข้มแข็ง มีการเคลื่อนไหวไปสู่วัตถุประสงค์ที่แน่นอนของส่วนรวมตลอดเวลา สิ่งที่เห็นได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ การปรับเปลี่ยนของชุมชนจะไม่เกิดผู้นำเดี่ยวๆแยกย่อยเป็นรายบุคคล แต่ภาวะผู้นำแบบควันตัมจะปรับเปลี่ยนกลุ่มผู้นำย่อยดังกล่าวให้กลายเป็นทีมของผู้นำที่ทรงพลัง(Synergistic generator of leadership) โดยผู้นำแต่ละคนจะปฏิบัติในส่วนตนที่ตนรับผิดชอบอย่างประสานสัมพันธ์ด้วยดีกับของคนอื่นในการขับเคลื่อนภารกิจโดยรวมของชุมชนให้เดินหน้าได้ลงตัว อาจกล่าวได้ว่า ภายใต้ภาวะแวดล้อมเช่นนี้ เกิดผู้นำที่ทำงานร่วมกันอย่างมีชีวิตชีวาขึ้นในชุมชนจำนวนมาก


ต่อไปนี้จะกล่าวถึงเครื่องมือ 3 ประการแรก ที่ถือเป็นกลยุทธ์ของผู้นำแบบควันตัมที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้กลายเป็นระบบที่ทรงพลัง (Synergistic system)






1. สร้างสัมพันธภาพที่เข้มแข็งของชุมชน (Build Strong Community Relationships)


ตามหลักของภาวะผู้นำแบบควันตัม ภาวะผู้นำหรือความเป็นผู้นำจะเกิดขึ้นในหมู่สมาชิกที่พบปะไปมาหาสู่และสนับสนุนซึ่งกันและกัน คนเหล่านี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีมและกระตือรือร้นต่อการแก้ปัญหาใดๆที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน การที่คนกลุ่มนี้สามารถสร้างสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นได้ จำเป็นต้องสร้างช่องทางสื่อสารที่แข็งแรง (Strengthening channels of communication) ต้องมีพันธะสัญญาทางใจ (Obligation) และมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependence) นี่คือ พื้นฐานหลักที่สำคัญที่สุดของภาวะผู้นำแบบควันตัมซึ่งจะขาดเสียมิได้ มีสิ่งควรคำนึงในด้านนี้ ได้แก่






1). พบปะโดยต้องเข้าไปหาคนเหล่านี้ (Meeting Community Members Where They Are)


ในการพบปะกันครั้งแรกจำเป็นต้องทำให้สมาชิกแต่ละคนยอมรับว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากกว่าเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆของกลุ่มคน ดังนั้นการพบปะต้องเป็นแบบไม่มีพิธีรีตองและต้องไม่เป็นทางการ แต่ต้องเป็นแบบที่คนเหล่านี้มาพบปะรวมกันเองอย่างเป็นธรรมชาติทุกวันอยู่แล้ว เช่น ในกิจกรรมหมู่บ้าน ในวัด ในทุ่งนา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้คนเหล่านี้รู้สึกสะดวกใจกล้าที่จะแสดงออกความคิดเห็น สะท้อนปัญหาความต้องการได้อย่างอิสระและเป็นกันเอง ซึ่งจะสร้างความรู้สึกและความเข้าใจร่วมต่อกัน อันจะนำไปสู่การยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบร่วมกันต่อไป


2). ยึดหลักใช้ชุมชนเป็นพลังขับเคลื่อน (Constituting the Community as a Driving Force)


แม้หลังจากที่สมาชิกยอมรับตนเองว่าคือชุมชนแล้วก็ตาม มิได้หมายความว่าเมื่อดำเนินปฏิติบัติภารกิจแล้ว คนกลุ่มนี้จะสามารถประสบความสำเร็จตามที่ต้องการได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือสมาชิกต้องยอมรับพลังอำนาจภายในชุมชนของตนเอง ความริเริ่มใดๆก็ตามต้องมิใช่มาจากภายนอกแต่ต้องเริ่มต้นมาจากการคิดที่เป็นความต้องการของชุมชนเอง หลักการสำคัญในการปลดปล่อยพลังของชุมชนตามแนวคิดของภาวะผู้นำแบบควันตัม ก็คือ ยึดหลักใช้ชุมชนเป็นแกนกลางและเป็นที่มาของอำนาจ ดังนั้น จึงต้องทำให้ชุมชนเองยอมรับว่า ชุมชนคือจุดสำคัญที่มีพลังอำนาจในขับเคลื่อนการดำเนินงานใดๆที่ต้องการเกิดขึ้นจนประสบความสำเร็จได้


3). สร้างสายสัมพันธ์อย่างมั่นคงด้วยการฟังและการเสวนา (Forging Connections Through Listening and Dialogue)


การสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของสมาชิกชุมชนนั้น ผู้นำแบบควันตัมเชื่อว่า เครื่องมือสำคัญที่สามารถสร้างบรรยากาศดังกล่าวได้ดี ก็คือ การพัฒนาทักษะในการฟังอย่างตั้งใจ (Active listening) และการใช้กิจกรรมการตั้งวงเสวนาทั้งแบบที่ไม่เป็นทางการและแบบเป็นทางการ การสนทนาเป็นกลไกที่สำคัญและมีพลังยิ่งที่ทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขึ้น ส่วนการรับฟังอย่างตั้งใจจะทำให้ได้รับข้อมูลสาระของปัญหาอย่างรอบด้านและครบถ้วน รวมถึงสามารถรับรู้และเข้าถึงก้นบึ้งของความรู้สึกภายในใจของผู้พูด นำมาสู่ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เกิดความไว้วางใจและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ทำให้การปฏิบัติภารกิจร่วมกันในลักษณะทีมราบรื่นและมีประสิทธิผล














2. สร้างโอกาสให้ชุมชนได้มีการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ (Open the Space for Community Initiative)


ทักษะเด่นของการเป็นผู้นำแบบควันตัม ก็คือ ความสามารถในการ “เปิดพื้นที่ว่าง (Open up space) และสร้างเงื่อนไข(Create the conditions)” เพื่อให้เกิดกิจกรรมของชุมชนขึ้น


ทั้งนี้การใช้วิธีการตั้งวงสนทนาและการรับฟังอย่างตั้งใจต่อกันดังกล่าวมาแล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเงื่อนไขแบบหนึ่ง โดยสมาชิกชุมชนสามารถหยิบยกเรื่องที่สนใจหรือคิดว่าเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาถกกันในวงสนทนา มีการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเกิดขึ้น จากนั้นก็มีการคิดค้นและเสนอแนวทางใหม่ที่เห็นพ้องร่วมกัน สุดท้ายก็ร่วมลงมือดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางใหม่ที่สามารถเป็นไปได้ จนบรรลุผลตามที่ร่วมวาดฝันไว้ โดยยึดหลัก ดังนี้


1). ยึดการมีอำนาจตัดสินใจเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและมีปากเสียงมากยิ่งขึ้น (Inviting Empowerment: Fostering community voice) กล่าวคือ ถ้าชุมชนตระหนักถึงพลังของการเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงต่อกันภายในตนเอง การมีความรู้สึกว่าชุมชนของตนมีบรรยากาศที่ปลอดภัยต่อ


การแสดงออกความคิดเห็นด้วยการพูดและการฟังอย่างอิสระแล้ว คนเหล่านี้ก็จะกล้าพูดในสิ่งที่เคยเก็บกดไม่กล้าที่จะพูดมาก่อน ตลอดจนกล้าถามและกล้าคิดในแง่มุมแปลกใหม่ที่ตนไม่กล้าเสนอมาก่อนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถพบเห็นการริเริ่มกระทำสิ่งใหม่ๆรวมทั้งมีภาวะผู้นำใหม่เกิดขึ้นในชุมชน ในลักษณะที่สมาชิกแต่ละคนตระหนักดีว่า ตนคือส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างภาพที่เป็นองค์รวมของชุมชน


2). ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน (Inviting Participation: Fostering community ownership) แม้ว่าแต่ละคนในฐานะเป็นสมาชิกชุมชนจะยอมรับว่าการกระทำกิจกรรมใดๆต้องมีผลกระทบกับตนก็ตาม แต่ก็ยังรีรอนิ่งเฉยไม่ได้เข้าร่วมดำเนินการใดๆ อาจมีบ้างบางคนที่อยากมีส่วนร่วมแต่ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีได้แต่รอคำแนะนำจากผู้นำ ในขณะที่ผู้นำเองก็รอคอยให้มีการริเริ่มเกิดขึ้นเองภายในชุมชน ในประเด็นนี้ สิ่งที่ท้าทายผู้นำก็คือ ต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกคนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนและต้องเข้ามากำหนดแผนการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่มีผลกระทบต่อสมาชิกและต่อชุมชนโดยรวม


3. ค้นหาจุดแข็งของชุมชน (Find the Deep Sources of Strength)


แนวคิดของภาวะผู้นำแบบควันตัม เชื่อว่า ส่วนหนึ่งของอำนาจของชุมชนได้มาจากการเชื่อมโยงระหว่าง ความรู้สึกมีอำนาจในตนเองของชุมชนกับพลังที่ฝังลึกอยู่ภายในชุมชน ทั้งสองอย่างเมื่อรวมกันสามารถทำให้มีผู้ให้การสนับสนุน และสามารถสร้างความชอบธรรมต่อการดำเนินการใดๆของชุมชุนได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งได้แก่


1). ประวัติความเป็นมาของชุมชน โดยเฉพาะสิ่งดีงามหรือเหตุการณ์ที่โดดเด่นในอดีตของชุมชน สามารถสร้างความภาคภูมิใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สมาชิกและชุมชนนั้น ถือเป็นจุดแข็งและเป็นมรดกสำคัญที่สร้างความมีพลังของชุมชนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


2). ดึงพลังอำนาจทางด้านจิตวิญญาณ ด้านคุณธรรมจริยธรรมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ฝังลึกอยู่ในชุมชน ขึ้นมาใช้ร่วมกับการดำเนินงานต่างๆของชุมชน การใช้งานด้านศิลปวัฒนธรรมและการดนตรีสามารถสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนเองและยังเป็นเครื่องมือสร้างสัมพันธภาพกับหน่วยงานและชุมชนอื่นได้เป็นอย่างดี






ข. ด้านการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของชุมชน (Transforming the Community’s Environment)


เครื่องมือ 3 ประการแรกที่ผู้นำแบบควันตัมใช้ในการขับเคลื่อนชุมชนและกระบวนการดำเนินงานภายในเช่น การเพิ่มความสามารถในการริเริ่มและการส่งเสริมความมีสิทธิ์มีเสียง การแสวงหาและสร้างจุดแข็งของชุมชน เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอเครื่องมือขับเคลื่อนอีก 4 ประการ ที่จะช่วยให้การกำหนดตำแหน่งแห่งที่และการดำรงอยู่ของชุมชนในสภาวะแวดล้อมของโลกภายนอกของ


ชุมชนเป็นไปด้วยความความเหมาะสม มั่นคงและยั่งยืน ได้แก่






4. สามารถ เผชิญพายุได้โดยไม่หักโค่น (Face the Wind and Bend Without Breaking)


ถึงขั้นนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในชุมชน จากเป็นเพียงที่รวมของกลุ่มบุคคลไปเป็นกลไกของภาวะผู้นำที่จะต้องขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ โครงสร้างความเป็นชุมชน การรักษาความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ในการดำเนินกิจการ และต้องมีความยึดโยงกับหลักมนุษยธรรม


มีสิ่งที่ควรคำนึง ได้แก่


1). ให้การยอมรับต่อความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นว่าเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า (Respecting the chaos and allowing order to emerge) เมื่อมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงใดๆโดยเร่งด่วน ย่อมแน่นอนว่าจะต้องความเห็นที่แตกต่างๆกันหลากหลายมากมายเกิดขึ้น ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จะมีกระแสกดดันเพื่อการตอบสนองความต้องการของแต่ละคนหรือแต่ละฝ่าย บรรยากาศของความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้นำจะต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาและต้องเชื่อว่า ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเป็นความงดงามของชุมชน เพียงแต่ว่า ผู้นำจะต้องใช้ความมีสติ ความสุขุมเยือกเย็นและความมีเหตุผล เพื่อให้ทุกฝ่ายหาทางออกของปัญหาร่วมกันอย่างสันติวิธีโดยยึดผลประโยช์ของชุมชนส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ต้องพยายามใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทางเพื่อลดความร้อนแรงทางอารมณ์ให้ผ่อนคลายลง และพยายามหลีกเลี่ยงวิธีการรุนแรงหรือวิธีการหักด้ามพร้าด้วยเข่าออกไปในทุกกรณี พยายามใช้วิธีการเกลี่ยกล่อมจูงใจกลุ่มให้หันมาช่วยกันหาทางออกที่ทุกฝ่ายสามารถรับได้ (Win/win solution)และร่วมกันดำเนินการให้ไปสู่ข้อยุตินั้น


2). ต้องยอมรับความเจ็บปวดและความโกรธที่เกิดจากความล้มเหลวของการดำเนินงาน โดยมองว่าเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นในงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาขวัญกำลังใจและความผูกพันต่อกันของชุมชนให้มั่นคงต่อไป จึงเป็นหน้าที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของการเป็นผู้นำแบบควันตัม ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขเยียวยาดูแลสมาชิกชุมชนอย่างใกล้ชิด ผู้นำเองต้องแสดงความสงบเยือกเย็นและสามารถเป็นที่พึ่งพาได้ในภาวะเลวร้ายเช่นนี้ และสามารถสร้างความหวังว่าชุมชนจะฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคตหากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน


5. ยื่นมือออกไปเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับภายนอก (Stretch and Build the Relationship Outward)


ภารกิจของชุมชนในประเด็นนี้ที่เป็นหน้าที่ของผู้นำแบบควันตัม ก็คือ ส่งเสริมและกระตุ้นให้สมาชิกของชุมชนออกไปพบปะสังคมภายนอกเพื่อหาทางสร้างเครือข่ายของความร่วมมือ แสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงประเด็นปัญหาที่พบในระดับท้องถิ่น สู่ระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติศาสนา ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และมีการเชื่อมโยงถึงกันด้วยระบบออนไลน์


อย่างไรก็ตาม การขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ของชุมชนกับหน่วยงานภายนอกนั้น ผู้นำจะต้องพิจารณาถึงศักยภาพของหน่วยงานนั้นที่จะร่วมปฏิบัติภารกิจไปสู่เป้าหมายเดียวร่วมกันว่าเพียงพอและชัดเจนหรือไม่ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจริงทางสังคมจะเป็นไปมิได้เลยหากขาดการสนับสนุนจากสังคมในวงกว้าง แต่จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายลงตัว ชัดเจนและมีโอกาสสำเร็จได้เท่านั้น


6. กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีวัตถุประสงค์ (Encourage Purposeful Learning)


ในโลกของการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น ความต้องการของผู้เกี่ยวข้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่ผู้ทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจะต้องเปิดใจกว้างและมีความยืดหยุ่น ต้องทบทวนวิธีการดำเนินการตลอดจนพันธกิจอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บังเกิดผล ได้อย่างที่ปรารถนา ทั้งนี้การกระตุ้นให้เกิดอุปนิสัยกระหายใคร่รู้ในหมู่สมาชิกเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการคิดและวางแผนเชิงกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ ผู้นำแบบควันตัมจะต้องต่อต้านความคิดใดๆที่นำไปสู่การทำงานหรือแก้ปัญหาที่ทราบคำตอบแน่นอนแล้ว แต่ตรงกันข้ามต้องเน้นทำในสิ่งที่ยังไม่ทราบคำตอบ ต้องอาศัยการร่วมทำงานและศึกษาค้นคว้าร่วมกันภายในชุมชนจนได้คำตอบออกมา วิธีการในประการหลังจะช่วยสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้นและพัฒนาความเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ให้แก่สมาชิกในระยะยาวได้


7. นำอนาคตสู่ปัจจุบัน (Bring the Future into the Present)


ภาวะผู้นำแบบควันตัมเชื่อว่า ชุมชนเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ในอนาคตของตนเอง ซึ่งระบุถึงเงื่อนไขต่างๆที่ทำให้สมาชิกของชุมชนสามารถดำรงชีวิตที่ดีกว่าให้ไปตามที่พวกตนจินตนาการขึ้น จากนั้นจึงร่วมกันผลักดันให้สิ่งที่วาดฝันไว้ในอนาคตให้ค่อยๆเกิดขึ้นตั้งแต่ปัจจุบันให้ได้ การดำเนินการแต่ละอย่างต้องมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้สิ่งที่เป็นวิสัยทัศน์นั้นเป็นจริงในปัจจุบันให้มากที่สุด โดยมีการกำหนดกลยุทธ์สู่ความสำเร็จให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินการ แต่เครื่องมือที่ใช้ขับเคลื่อน “นำอนาคตสู่ปัจจุบัน” นี้ ผู้นำแบบควันตัมมิได้คาดหมายว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่เป็นภาพรวมของชุมชนได้ เป็นแต่เพียงสามารถสร้างความตระหนักถึงปัญหา สร้างความสนใจและสร้างความเข้าใจของสาธารณชนที่มีต่อชุมชน จนเข้ามาให้ความช่วยเหลือร่วมมือและให้การสนับสนุนต่างๆอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดแนวร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าของชุมชนได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การดำเนินการใดๆมีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่พึงระวังควบคู่กันไป ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป






บทสรุป ทุกวันนี้ภาวะผู้นำแบบควันตัม ยังไม่อาจเรียกอย่างชัดเจนได้ว่าเป็นทฤษฎีทางภาวะผู้นำอย่างสมบูรณ์ แต่ยังอยู่ในระดับของแนวคิดที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง โดยเฉพาะมุ่งที่จะประยุกต์ทฤษฎีภาวะผู้นำที่มีอยู่แล้วในแง่มุมมองใหม่เพื่อใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของส่วนรวมและสังคมได้มากขึ้น โดยยึดหลักการอุปมาแนวคิดภาวะผู้นำด้วยหลักวิชาควันตัมฟิสิกส์ จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดจากภาวะผู้นำแบบปัจเจกบุคคลไปเป็นภาวะผู้นำแบบที่เป็นกลุ่มก้อนของบุคคลทั้งชุมชนหรือภาวะผู้นำแบบยึดชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้ทรงพลังในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้มากยิ่งขึ้นซึ่งเรียกว่า ภาวะผู้นำแบบควันตัม แต่เนื่องจากแนวคิดในเรื่องนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่จำเป็นต้องแสวงหาความชัดเจนในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกมาก จำเป็นต้องมีนักวิชาการและนักวิจัยช่วยศึกษา วิจัยค้นคว้าอีกมาก เทคนิคหนึ่งที่นักวิจัยมักใช้ในการศึกษาและทำความเข้าใจต่อความเป็นผู้นำแบบควันตัมของชุมชน ที่ได้ผลดีก็คือ เทคนิควิธีวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) เพื่อช่วยค้นหาหลักการที่เป็นกรอบความคิด ค่านิยม พฤติกรรมและกลยุทธ์ที่เหมาะสมของภาวะผู้นำแบบควันตัม ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามต่อส่วนรวมอย่างมีประสิทธิผลต่อไป














บรรณานุกรรม






Morrison, K. (2002). School leadership and complexity theory. London:Routledge Falmer.


Milewski, J. (2007). Quantum leadership, The power of community in motion: A refective


Document from the Leadership for a Changing World Program. New York University.


Sule Ercetin, S.,& Kamaci, M. C. Quantum leadership paradigm. World Applied Sciences


Journal 3(6): 865-868, 2008.


Stewart, M. B. The Quantum Advantage. Innovative Leader 11(8): August (2002.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น