วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การพัฒนาของจีนและอินเดีย

การพัฒนาของจีนและอินเดีย

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 23 และ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2556 )


ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก
วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

จีนและอินเดียเป็นสองมหาอำนาจที่มีประชากรมากที่หนึ่งและที่สองของโลก โดยจีนมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน ส่วนอินเดียนั้นมีประชากร 1,150 ล้านคน ทั้งสองประเทศนี้เป็นสองในสี่ประเทศหรือห้าประเทศของกลุ่มมหาอำนาจเกิดใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคเอเชียรุ่งเรือง นั่นคือ BRIC อันได้แก่ บราซิล ซึ่งมีประชากรประมาณ 190 ล้านคน รัสเซีย มีประชากรประมาณ 140 ล้านคน อินเดียและจีนมีประชากรตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จีนและอินเดียเมื่อรวมประชากรกันแล้วจะเป็นประมาณเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกซึ่งมีประมาณ 7,000 ล้านคน จีนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในทางเศรษฐกิจ มีบทบาทและอำนาจในทางเศรษฐกิจและทางการเมืองเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในขณะที่อินเดียก็มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน แม้บทบาททางการเมืองจะไม่มีเท่าจีนแต่ก็มีศักยภาพอย่างมากที่จะมีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้นทั้งในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งในระดับสากลเช่นเดียวกับจีน
            การที่จีนและอินเดียพัฒนาขึ้นมาจนเป็นมหาอำนาจนั้น สำหรับหลายคนที่ไม่มีความรู้เรื่องทางสังคมศาสตร์อันได้แก่ตัวแปรสำคัญของการพัฒนา ก็อาจจะไม่เชื่อคำกล่าวที่มีการพูดกันในหมู่คนจำนวนน้อย เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว ผู้เขียนศึกษาที่สหรัฐฯ และได้ทราบมาว่าจากตัวแปรต่างๆ จีนจะเป็นมหาอำนาจและจะก้าวไกลกว่าสหรัฐฯ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ จากนั้นผู้เขียนเองได้ศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีการพัฒนาชาติให้มีความเจริญเติบโต (National Growth) และการสร้างอำนาจแห่งชาติ (National Power) จากศาสตราจารย์ เอ.เอฟ.เค ออร์แกนสกี้ (A.F.K. Organski) ผู้เขียนจึงได้สรุปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วว่าทั้งจีนและอินเดียจะเป็นมหาอำนาจในอนาคตซึ่งไม่มีนักวิชาการคนใดเชื่อตาม และมองเป็นเรื่องขบขัน บางคนถึงกับเย้ยหยัน นักวิชาการดังกล่าวมีมาทั้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในกรณีที่อ้างว่าจีนเป็นมหาอำนาจเกินหน้าอเมริกานั้น ผู้เขียนยังได้กล่าวว่าจีนจะตามทันญี่ปุ่นหรือเกินหน้าญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1976 หรือเกือบ 40 ปีที่แล้ว ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตหลังจากผู้เขียนฉายหนังและบรรยายเรื่องเมืองจีนซึ่งผู้เขียนไปเยี่ยมเยียนมา 18 วัน ซึ่งนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยเกียวโตก็ไม่มีใครเชื่อ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันจีนล้ำหน้าญี่ปุ่น และมีแนวโน้มจะล้ำหน้าอเมริกา ส่วนอินเดียก็กำลังผงาดขึ้นมาโดยแข่งขันกับจีนไปอย่างติดๆ
            คำถามก็คือ ทฤษฎีของออร์แกนสกี้กล่าวว่าอย่างไร ออร์แกนสกี้กล่าวว่า ประเทศทุกประเทศจะพัฒนาความเจริญเติบโตแห่งชาติจากน้อยไปสู่มาก แต่จะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่างกัน ซึ่งย่อมส่งผลต่ออำนาจแห่งชาติที่ต่างกัน ตัวแปรที่นำไปสู่การพัฒนาแห่งชาติเพื่อนำไปสู่อำนาจแห่งชาตินั้นมี 5 ตัวแปรคือ
            ก) การพัฒนาการเมือง (political development) โดยเป็นระบบการเมืองที่ปลุกเร้ามวลชนให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบประชาธิปไตย ฟาสซิสต์ หรือคอมมิวนิสต์ ประเด็นอยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชน
ข) การพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development) ได้แก่ การพัฒนาเกษตรไปสู่อุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร (ออร์แกนสกี้ไม่ได้กล่าวถึงข่าวสารข้อมูลเพราะยังไม่ถึงยุคนั้น แต่ก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของคอมพิวเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง) การพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่อุตสาหกรรมนั้นย่อมส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิธีการทำงาน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและระบบการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของข่าวสารข้อมูลหรือสื่อมวลชน
ค) การขยับชั้นทางสังคม (social mobility) ซึ่งหมายความว่าสังคมที่จะพัฒนานั้นจะต้องเปิดกว้างให้คนสามารถเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม โดยจะต้องมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการว่าจ้างแรงงาน โดยจะนำไปสู่การเปลี่ยนสถานภาพทางสังคม ซึ่งย่อมจะส่งผลถึงข้อ ก) ตามที่กล่าวมาแล้ว
ง) จิตวิทยาที่ทันสมัย (psychological modernity) หมายถึง คนมีเหตุมีผลด้วยตรรกแบบวิทยาศาสตร์ ไม่หลงงมงายในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ วิเคราะห์ปัญหาโดยใช้ตรรกที่มีเหตุมีผล มีข้อมูล ซึ่งย่อมส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุดคือ วิธีคิดหรือระบบความคิด
จ) จำนวนประชากร (population) ออร์แกนสกี้กล่าวว่าจำนวนประชากรที่มากพอจนมีตลาดภายในที่ใหญ่พอ ย่อมง่ายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจทางอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ สามารถพัฒนาได้รวดเร็วเพราะมีจำนวนประชากรเป็นร้อยล้านคน การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมากนั้นย่อมจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้นทุนต่ำ (economy of scale) แต่ที่สำคัญที่สุด ประชากรนั้นจะต้องเป็นประชากรที่เป็นประโยชน์ (asset) กล่าวคือ มีการศึกษา มีสุขภาพแข็งแรง มีระเบียบวินัย ไม่ใช่ประชากรที่เป็นปัญหา (liability) อมโรค ไร้การศึกษา ขาดทักษะ ขาดระเบียบวินัยและไม่มีอำนาจซื้อ นอกจากนั้น โครงสร้างอายุต้องมีจำนวนมากในช่วงอายุ 16-60 ปี เนื่องจากเป็นช่วงของการผลิต ส่วนอายุ 1-15 ปี หรืออายุ 61 ปีขึ้นไป จะต้องมีมาตรการในการควบคุมการกำเนิดไม่ให้กลุ่มล่างและกลุ่มบนป่องโต มิฉะนั้นจะกลายเป็นภาระอย่างหนักสำหรับกลุ่มประชาชนผู้ผลิตในช่วงกลาง ออร์แกนสกี้กล่าวว่าในอดีตมหาอำนาจตะวันตก ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน เป็นต้น ล้วนแล้วแต่มีประชากรตั้งแต่ 30 ล้านคนขึ้นไป
เมื่อผู้เขียนพิจารณาประเทศจีนและอินเดียแล้ว จีนภายใต้คอมมิวนิสต์มีการปลุกเร้าประชาชนสูงทำให้เกิดการมีส่วนร่วม มีการพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ขาดความรู้ทางวิทยาการหรือเทคโนโลยี นี่คือจุดอ่อนของจีนในยุคนั้น มีการขยับชั้นทางสังคมสูง กรรมกรและชาวนา คนสามัญขึ้นมามีตำแหน่งสูงในแผ่นดิน มีจิตวิทยาที่ทันสมัย เพราะไม่เชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติอย่างเข้มข้นเหมือนจีนโบราณ และจำนวนประชากรมีประมาณ 600 ล้านคน (ในปี ค.ศ.1976) ผู้เขียนยังบอกญี่ปุ่นว่าถ้าจีนมีความสำเร็จในวิทยาการและเทคโนโลยี จีนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า เติ้ง เสี่ยวผิง เน้นการพัฒนาสี่ทันสมัย คือ เกษตร อุตสาหกรรม ป้องกันประเทศ และความรู้ทางวิทยาการ
            ในกรณีของอินเดียนั้น อินเดียมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะมีปัญหาแต่ขณะนี้อยู่ตัวและในระยะยาวอาจจะมีความได้เปรียบจีน เพราะมีกลไกของการแก้ปัญหา ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียนั้นมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แต่มาแก้ไขได้ทันเมื่อปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534) ซึ่งจะกล่าวต่อไป ในแง่การขยับชั้นทางสังคมยังมีข้อจำกัด แต่เนื่องจากการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ ชนชั้นที่อยู่ในระดับเศรษฐีมีถึง 200 ล้านคน จาก 1,150 ล้านคน จึงเป็นตัวจักรสำคัญที่จะผลักให้อินเดียไปข้างหน้าแม้คนส่วนใหญ่ยังยากจน ในส่วนของจิตวิทยาที่ทันสมัยเป็นภาพคาบเกี่ยวของทั้งสองอย่าง คนที่มีการศึกษาย่อมจะมีแนวคิดแบบสมัยใหม่ แต่คนที่ยังจมอยู่ในความเชื่อทางศาสนาก็เป็นมุมที่อาจจะส่งผลลบต่อการพัฒนาชาติและการสร้างอำนาจแห่งชาติ ในส่วนของประชากรนั้นอินเดียมีจำนวนใกล้เคียงกับจีน เป็นตลาดใหญ่มหาศาล และเมื่อมีอำนาจซื้อมากขึ้นเนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจ ก็จะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาความเจริญเติบโตแห่งชาติทางเศรษฐกิจ และการนำไปสู่การเติบโตทางอำนาจแห่งชาติต่อไป
            ถ้ามีการเปรียบเทียบการพัฒนาระหว่างจีนกับอินเดีย จุดแรกคือ จีนพัฒนาก่อนโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) หรือหลังจากประธานเหมา เจ๋อตุง ถึงแก่อสัญญากรรมเมื่อปี ค.ศ.1976 โดยได้ผู้บริหารคนสำคัญที่มีวิสัยทัศน์ ได้แก่ เติ้ง เสี่ยวผิง แม้จะไม่ใช่เป็นผู้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นผู้วางแผนสำคัญในการประกาศสี่ทันสมัยดังที่กล่าวมาแล้ว วิธีของจีนก็คือ การเริ่มปล่อยเสรีโดยให้มีการแข่งขันกันในภาคธุรกิจและการผลิต ขณะเดียวกันในทางเกษตรก็เริ่มลดความเข้มข้นของนารวมจนกลายเป็นระบบโควต้า และในขณะนี้ก็อาจจะมีการจัดกรรมสิทธิ์โดยมีระยะยาวนาน เช่น 50 ปี หรือ 99 ปี แล้วแต่กรณี (ซึ่งผู้เขียนยังไม่ทราบว่าลงตัวแล้วหรือยัง) ให้กับผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ การพยายามปลุกเร้าให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการสั่งเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องมือเครื่อใช้ รวมตลอดทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาที่เลียนแบบซึ่งมีปัญหาในเรื่องคุณภาพ แต่ในขณะนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น นอกเหนือจากนั้นยังมีการวางแผนโลจิสติกส์ หรือการสร้างเครือข่ายของการขนส่งทั้งในทางบก คือ รถไฟ รถยนต์ ทางอากาศ และทางน้ำ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาระบบการเมืองให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้มีสิ่งที่ซ้ำกับความวุ่นวายในอดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยพรรคเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมเสถียรภาพทางการเมือง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างระบบการปกครองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์โดยใช้อุดมการณ์สังคมนิยมในส่วนที่เกี่ยวกับสังคมและโลกทัศน์ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ทางเศรษฐกิจใช้ระบบทุนนิยมหรือระบบตลาด แต่อยู่ในกรอบของการควบคุม โดยรัฐจะคุมรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ พร้อมกับการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน แม้จีนจะกล่าวว่า ประชาชนคนจีนมีเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียงเสรีภาพส่วนตัว (personal liberties) โดยจะมีรูปแบบการดำรงชีวิตอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่ขาดอันเป็นที่ทราบกันอยู่คือไม่มีเสรีภาพทางการเมือง (political freedom) กล่าวคือ ไม่มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือพรรคคอมมิวนิสต์ และไม่มีสิทธิที่จะเลือกตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์เนื่องจากมีอยู่เพียงพรรคเดียวแม้จะมีการอ้างว่ามีพรรคอื่นๆ อีก 8 พรรคก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบาทอะไรในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจจีนถือว่าเป็นเสรีนิยมแต่ก็เป็นเสรีนิยมที่มีขอบเขต โดยจีนกล่าวเปรียบเทียบว่า เศรษฐกิจของจีนมีเสรีเหมือนนกบินได้ตามสบาย แต่นกจะบินได้โดยเสรีเฉพาะในกรงที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อควบคุมไม่ให้นกบินหนีเหมือนอย่างสหรัฐฯ อันได้แก่ นโยบาย หลักของรัฐ กลไกควบคุมทางเศรษฐกิจ และกฎหมาย หรือที่เรียกว่า ทุนนิยมแบบควบคุม (controlled capitalism)
ในส่วนของอินเดียนั้นจุดเริ่มต้นช้ากว่าประเทศจีน แต่มีข้อสังเกตคือ อินเดียมุ่งเน้นการพัฒนาการเมืองก่อน อันได้แก่ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ การพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดียนั้นเริ่มต้นจากวิธีคิดที่แตกต่างจากวิธีของจีน โดยมีบุคคลสำคัญสองคน หลังจากได้เอกราชเมื่อปี ค.ศ.1947 มหาตมะคานธีซึ่งต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอหิงสาและวิธีการใช้การผลิตและการดำรงชีวิตแบบจารีตนิยมคือ การทอผ้าใช้เอง ก็ได้มีการเน้นถึงเศรษฐกิจแบบเดิมให้พอเพียงกับการดำรงชีวิต ไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของตะวันตก ดังนั้น การผลิตไม่พอที่จะส่งออกเพื่อเงินตราต่างประเทศ ถึงแม้การผลิตดังกล่าวจะพอเพียงกับการดำรงชีวิตบนขาของตนเอง แต่ไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ด้วยการส่งออกจึงไม่สามารถเพิ่มพูนเงินตราต่างประเทศได้มากเท่าที่ควร ส่วนบัณฑิต เนห์รู ซึ่งรับผิดชอบต่อจากมหาตมะคานธีนั้น ตระหนักดีถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตะวันตก แต่ไม่ไว้วางใจนักธุรกิจในระบบทุนนิยมเพราะมีแนวโน้มที่จะผูกขาดและเอารัดเอาเปรียบ จึงหันไปใช้รูปแบบการผลิตของสหภาพโซเวียต ซึ่งคล้ายกับการผลิตของจีนสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเสรีกลับกลายเป็นการสร้างรัฐที่ทรงอำนาจ (Statism) ตามที่ Gurcharan Das ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ India Unbound สภาวะดังกล่าวย่อมไม่ส่งเสริมต่อการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาก็คือความจำเริญของเศรษฐกิจมีจำกัด การใช้ทรัพยากรไม่สมเหตุสมผล การสร้างรัฐที่มีบทบาทอย่างเข้มข้นในทางเศรษฐกิจก็คือลักษณะการมีเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเนื่องจากรัฐมีการกำหนดการผลิต ทำนองเดียวกับระบบของจีนสมัยเหมา เจ๋อตุง ที่มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง โดยทั้งสองระบบที่กล่าวมานี้เป็นรูปแบบที่นำมาจากสหภาพโซเวียต ในขณะที่อินเดียดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจไปเช่นนี้ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอแต่เชื่องช้า ที่สำคัญคือ การพัฒนาประชาธิปไตยเกิดการชะงักงันอย่างแรงเมื่อนางอินทิรา คานธี นำอำนาจเผด็จการมาใช้ แต่อาจจะถือว่าเป็นความโชคดีของอินเดียที่นางหมดอำนาจเนื่องจากถูกลอบสังหาร นายราจีฟ คานธี ซึ่งสืบต่อจากนางอินทิรา คานธี พยายามที่จะปฏิรูปแต่ก็ไม่สามารถดำเนินไปได้นานเนื่องจากถูกสังหารชีวิตเช่นเดียวกัน จนมาถึงยุคที่นายกรัฐมนตรี พี.วี นาราซิมฮา ราว (P.V. Narasimha Rao) จึงได้มีการเริ่มต้นปฏิรูปโดยมีระบบการเมืองที่เสรียิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญคือการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐลดการควบคุมและส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีด้วยการส่งออก ผลที่ตามมาคือโฉมหน้าใหม่ของเศรษฐกิจอินเดียในปัจจุบันนี้ ทำนองเดียวกับจีน แต่เริ่มต้นช้ากว่าจีนประมาณ 13 ปี ในขณะที่จีนมีพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมและจัดทิศทางของการพัฒนาประเทศ อินเดียมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ การออกนโยบายต่างๆ จึงไม่สามารถทำได้อย่างเข้มข้นเหมือนกับจีน แต่เมื่อเทียบกับสองประเทศแล้วจะเห็นได้ว่า ในอนาคตอินเดียจะได้เปรียบกว่าในแง่มีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโดยใช้กลไกตลาด และมีการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่จีนมีลักษณะกึ่งๆ ทั้งในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งถูกรัฐควบคุมและการพัฒนาการเมืองซึ่งมิได้มีลักษณะของความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างเต็มที่
            แต่สิ่งซึ่งมีผลโดยตรงจากการพัฒนาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากกระแสของโลกาภิวัตน์ก็คือผลที่มีต่อการพัฒนาทางสังคม ในประเทศจีนนั้นเกิดเศรษฐีใหม่ขึ้นจำนวนมากมายเพราะโอกาสอำนวย พลังและแรงจูงใจที่ถูกเก็บกดได้ผลักออกมาเป็นการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ การลงทุนข้ามชาติ มีเศรษฐีทั่วไป โดยในขณะนี้จำนวนเศรษฐีมีเศรษฐีที่เป็นสตรี 9 คนโดยที่ทุกคนมีสินทรัพย์กว่า 3 หมื่นล้าน ส่วนอินเดียนั้นเศรษฐีใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายราย และมีคนร่ำรวยถึง 200 ล้านคนตามที่กล่าวไปแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุด ยุคของข่าวสารข้อมูลนำไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของวิชาความรู้ในการสื่อสาร ทำให้ชนชั้นสูงคือคนในวรรณะพราหมณ์ซึ่งอาศัยความรู้แบบเดิมต้องหันมาเรียนความรู้แบบใหม่เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมของตัวไว้ การผสมผสานความรู้ดังกล่าวนี้ย่อมทำให้คนที่เป็นวรรณะพราหมณ์รุ่นใหม่เอนเอียงไปสู่ความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ขณะเดียวกันชนชั้นที่มีวรรณะไม่สูงแต่สามารถเรียนรู้ความรู้ทางสมองกล การสื่อสาร สามารถใช้ความรู้ดังกล่าวสร้างสถานะทางเศรษฐกิจ และทำงานในที่ต่างๆ ทั้งอินเดียและต่างประเทศ จนขยับชั้นจากชนชั้นที่เป็นวรรณะไม่สูงขึ้นมาเป็นบุคคลซึ่งเป็นชนชั้นกลางแบบสมัยใหม่โดยปริยาย การเปลี่ยนแปลงในทางสังคมเช่นนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฐานของสถานภาพทางสังคม ซึ่งเดิมมีพื้นฐานในทางเศรษฐกิจและความรู้ในระบบผูกขาด โดยใช้ระบบวรรณะเป็นเครื่องกีดกั้น แต่ปัจจุบันไม่สามารถจะธำรงไว้ซึ่งระบบดังกล่าว อินเดียจึงเริ่มจะมีตัวแปรที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไคลทางสังคม หรือตัวแปรที่สามของออร์แกนสกี้มากขึ้น ในกรณีของจีนตัวแปรที่สามกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามากขึ้น ชนชั้นที่เคยมีความยิ่งใหญ่แบบขุนนางแบบดั้งเดิมได้ถูกกำจัดไปแล้วตั้งแต่จีนเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ สังคมจีนในยุคนี้ซึ่งมีอุดมการณ์สังคมนิยมและการที่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การได้รับการศึกษา และการว่าจ้างแรงงาน ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็ว
            ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ รูปแบบการพัฒนาของจีนและอินเดีย รูปแบบใดจะมีโอกาสกลายเป็นรูปแบบที่มีความนิยมมากกว่า เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก แต่ทั้งสองรูปแบบมีลักษณะพิเศษเนื่องจากภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมดั้งเดิม ความเชื่อ ศาสนา บุคลิกของประชาชน ระบบความคิด ฯลฯ สิ่งที่เห็นได้ก็คือ ทั้งจีนและอินเดียมีการพัฒนาขึ้นมาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยหันไปสู่ทิศทางที่จะเอื้ออำนวยต่อความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม และระบบการเมืองที่เป็นเสรีมากขึ้น และมีข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายนั้นเกิดจากการพ้นยุคเนื่องจากการสูญเสียชีวิตของผู้ปกครองยุคเดิม ในกรณีของจีนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลังจากการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตุง เมื่อปี ค.ศ. 1976 และการสิ้นสุดอำนาจของแก็งค์ทั้งสี่ ส่วนกรณีของอินเดียนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองเกิดขึ้นหลังจากการถึงแก่อสัญญกรรมของนางอินทิรา คานธี และนายราจีฟ คานธี จนปูพื้นฐานไปสู่การหันไปสู่ทิศทางใหม่ ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในปี ค.ศ.1991 กล่าวโดยสรุปก็คือไม่มีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่เป็นรูปแบบที่ถูกหรือผิด แต่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นโดยมีที่มาที่ไป มีวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ผลที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนในอนาคตก็คือ ทั้งสองประเทศจะเป็นประเทศมหาอำนาจ โดยจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในเวทีระหว่างประเทศทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และในระดับหนึ่งในทางวัฒนธรรม

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น