พฤติกรรมมนุษย์ - ปัจจัยพื้นฐานด้านจิตวิทยา
ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ ได้แก่ ปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งมีปัจจัยย่อยอยู่หลายปัจจัย ปัจจัยทางจิตวิทยา จะทำหน้าที่ เป็นสื่อกลางในการรับรู้และตีความสิ่งเร้าก่อนที่ร่างกายจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ปัจจัยทางจิตวิทยาที่สำคัญ ประกอบด้วย แรงจูงใจและ การเรียนรู้
1. แรงจูงใจ
1.1 ความหมาย ประเภทและปัจจัย
แรงผลักดันจากภายในที่ทำให้ให้มนุษย์เกิดพฤติกรรมตอบสนองอย่างมีทิศทางและ เป้าหมาย เรียกว่า แรงจูงใจ คนที่มีแรงจูงใจ ที่จะทำ พฤติกรรมหนึ่งสูงกว่า จะใช้ความพยายามนำ การกระทำไปสู่เป้าหมายสูงกว่า คนที่มีแรงจูงใจต่ำกว่า แรงจูงใจของมนุษย์จำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ประเภทแรก ได้แก่ แรงจูงใจทางกาย ที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมสนองความต้องการ ที่จำเป็นทางกาย เช่น หาน้ำ และอาหารมา ดื่มกิน เมื่อกระหายและหิว ประเภทที่สอง ได้แก่ แรงจูงใจทางจิตซึ่งเกี่ยวข้องกับ ความต้องการทางสังคม เช่น ความต้องการความสำเร็จ เงิน คำชมอำนาจ กลุ่มและพวก เป็นต้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในมนุษย์ ประกอบด้วย
1.1.1 ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความต้องการจำเป็นของชีวิต คือ อาหาร น้ำ ความปลอดภัย
1.1.2 ปัจจัยทางอารมณ์ เช่น ความตื่นเต้น วิตกกังวล กลัว โกรธ รัก เกลียด และความรู้สึกอื่นใด ที่ให้คนมีพฤติกรรม ตั้งแต่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จนถึง การฆ่าผู้อื่น
1.1.3 ปัจจัยทางความคิด เป็นปัจจัยที่กำหนดให้บุคคลกระทำในเรื่องที่คิดว่า เหมาะสมและเป็นไปได้ และตามความคาดหวังว่า ผู้อื่นจะสนองตอบ การกระทำของตนอย่างไร
1.1.4 ปัจจัยทางสังคม เป็นปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคม และเป็นที่ยอมรับ ของบุคคลในสังคมนั้นด้วย การกระทำของผู้อื่นและผลกรรมที่ได้รับจึงทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นไปกฏระเบียบ และตัวแบบทางสังคม
1.2 ทฤษฎีแรงจูงใจ
นักจิตวิทยาได้พัฒนาทฤษฎีเพื่ออธิบายถึงแรงจูงใจของมนุษย์ เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ปรากฏ แต่ละทฤษฎีมีจุดที่เป็น ความแนวคิด เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญได้แก่ ทฤษฎีสัญชาติญาณ ทฤษฎีแรงขับ ทฤษฎีการตื่นตัว และทฤษฎีสิ่งล่อใจ
1.2.1 ทฤษฎีสัญชาติญาน (Instinct Theory)
สัญชาติญาน เป็น พฤติกรรมที่มนุษย์ แสดงออกโดยอัตโนมัติ ตามธรรมชาติของชีวิต เป็นความพร้อม ที่จะทำ พฤติกรรม ได้ในทันที เมื่อปรากฎ สิ่งเร้า เฉพาะต่อพฤติกรรมนั้น สัญชาติญาณ จึงมีความสำคัญต่อ ความอยู่รอด ของชีวิต ในสัตว์บางชนิด เช่นปลากัดตัวผู้จะแสดงการก้าวร้าว พร้อมต่อสู้ ทันทีที่เห็นตัวผู้ตัวอื่น สำหรับ ใน มนุษย์ สัญชาติญาณ อาจจะไม่แสดงออกมา อย่างชัดเจนในสัตว์ชั้นต่ำ แต่บุคคลสามารถรู้สึกได้ เช่น ความใกล้ชิด ระหว่าง ชายหญิง ทำให้เกิด ความต้องการทางเพศได้ พฤติกรรมนี้ไม่ต้องเรียนรู้ เป็นรูปแบบพฤติกรรมที่ตายตัว แน่นอน ซึ่งกำหนดมา ตามธรรมชาติจาก ปัจจัยทางชีวภาพ ในปัจจุบันการศึกษา สัญชาตญาน เป็นเพียงต้องการ ศึกษา ลักษณะ การตอบสนอง ขั้นพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจ พฤติกรรม เบื้องต้นเท่านั้น
1.2.2 ทฤษฎีแรงขับ (Drive Reduction Theory)
แรงขับ (Drive) เป็นกลไกภายในที่รักษาระบบทางสรีระ ให้คงสภาพสมดุลในเรื่องต่าง ๆ ไว้ เพื่อทำให้ ร่างกายเป็น ปกติ หรืออยู่ในสภาพ โฮมิโอสแตซิส (Homeostasis) โดยการปรับระบบให้เข้ากับ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทฤษฎีแรงขับอธิบายว่า เมื่อเสียสมดุลในระบบ โฮมิโอสแตซิส จะทำให้เกิดความต้องการ (Need) ขึ้น เป็นความต้องการทางชีวภาพเพื่อรักษาความคงอยู่ของชีวิต และความต้องการนี้ จะทำให้เกิด แรงขับ อีกต่อหนึ่ง
แรงขับเป็น สภาวะตื่นตัว ที่พร้อมจะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้กลับคืนสู่สภาพสมดุลเพื่อลดแรงขับนั้น (Drive Reduction) ตัวอย่างเช่น การขาดน้ำในร่างกาย จะทำให้เสียสมดุลทางเคมี ในเลือด เกิดความต้องการเพิ่มน้ำ ในร่างกาย แรงขับ ที่เกิดจากต้องการน้ำคือ ความกระหาย จูงใจให้เราดื่มน้ำหรือหาน้ำมาดื่ม หลังจากดื่มสม ความต้องการแล้ว แรงขับก็ลดลง กล่าวได้ว่า แรงขับผลักดันให้คนเรามีพฤติกรรม ตอบสนอง ความต้องการ เพื่อทำให้ แรงขับ ลดลงสำหรับที่ร่างกาย จะได้กลับสู่ สภาพสมดุล อีกครั้งหนึ่ง
แรงขับ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ แรงขับปฐมภูมิ (Primary Drive) และ แรงขับทุติยภูมิ (Secondary Drive) แรงขับที่เกิดจาก ความต้องการพื้นฐานทางชีวภาพ เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ ความต้องการและแรงขับประเภทนี้ เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องเรียนรู้ เป็นแรงขับ ประเภทปฐมภูมิ ส่วนแรงขับทุติยภูมิ เป็นแรงขับที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ แรงขับประเภทนี้ เมื่อเกิดแล้วจะจูงใจคนให้กระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เช่น คนเรียนรู้ว่า เงินมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการสนองความต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ อีกมาก การไม่มีเงิน จึงเป็นแรงขับทุติยภูมิสามารถจูงใจให้คนกระทำพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ได้เงินมาตั้งแต่การทำงานหนัก จนถึงการทำ สิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การปล้นธนาคาร
1.2.3 ทฤษฎีการตื่นตัว (Arousal Theory)
มนุษย์ถูกจูงใจให้กระทำพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อรักษาระดับการตื่นตัวที่พอเหมาะ (Optimal level of arousal) เมื่อมีระดับการตื่นตัวต่ำลง ก็จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มขึ้น และเมื่อการตื่นตัวมีระดับสูงเกินไปก็จะถูกดึงให้ลดลง เช่น เมื่อรู้สึกเบื่อคน จะแสวงหาการกระทำที่ตื่นเต้น เมื่อตื่นเต้นเร้าใจมานานระยะหนึ่ง จะต้องการพักผ่อน เป็นต้น คนแต่ละคนจะมีระดับการตื่นตัวที่พอเหมาะแตกต่างกัน
การตื่นตัวคือ ระดับการทำงานที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย สามารถวัดระดับการทำงานนี้ได้จากคลื่นสมอง การเต้นของหัวใจ การเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือจากสภาวะของอวัยวะต่าง ๆ ขณะที่หลับสนิทระดับการตื่นตัวจะต่ำที่สุด และสูงสุดเมื่อตกใจหรือตื่นเต้นสุดขีด การตื่นตัวเพิ่มขึ้นได้จากความหิว กระหายน้ำหรือแรงขับทางชีวภาพอื่น ๆ หรือจากสิ่งเร้าที่เข้มข้น รุนแรง เหตุการณ์ไม่คาดหวังไว้ก่อน หรือจากสารกระตุ้นในกาแฟ และยาบางชนิด
การทำงานจะที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อมีระดับการตื่นตัวปานกลาง ระดับการตื่นตัวที่สูงเกินไปจะรบกวนความใส่ใจ การรับรู้ การคิด สมาธิ กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ยาก เมื่อระดับการตื่นตัวต่ำ คนเราทำงานที่ยากและมีรายละเอียดได้ดี แต่ถ้าเป็นงานที่ง่ายจะทำได้ดีเมื่อระดับ การตื่นตัวสูง คนที่มีระดับการตื่นตัวสูงเป็นนิสัย มักสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินอาหารรสจัด ฟังดนตรีเสียงดัง มีความถี่เรื่องเพศสัมพันธ์ ชอบการเสี่ยงและลองเรื่องใหม่ ๆ ส่วนคนที่มีระดับการตื่นตัวต่ำเป็นปกติ มักมีพฤติกรรมที่ไม่เร้าใจมากนัก ไม่ชอบการเสี่ยง ความแตกต่างในระดับพอเหมาะของการตื่นตัว เกิดจากพื้นฐานทางชีวภาพเป็นเรื่องหลัก และทำให้มีบุคลิกภาพแตกต่างกันไปด้วย
1.2.4 ทฤษฎีสิ่งจูงใจ (Incentive Theory)
ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมที่จูงใจจะดึงดูดให้คนมุ่งไปหาสิ่งนั้น มนุษย์กระทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อแสวงหาสิ่งที่พอใจ (Positive Incentives) เช่น รางวัล คำยกย่อง สิทธิพิเศษ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่พอใจ (Negative Incentives) เช่น ถูกลงโทษ ถูกตำหนิ ทำให้เจ็บกาย การที่คนมี พฤติกรรมแตกต่างกัน หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับความแตกต่างในคุณค่า (Values) ของสิ่งจูงใจ ถ้าคิดว่าการกระทำอย่างใด อย่างหนึ่ง จะได้รับผลคุ้มค่าก็จะมีแรงจูงใจให้บุคคลกระทำอย่างนั้น
2. การเรียนรู้
การเรียนรู้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และ การปรับพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจาก ประสบการณ์ หรือมี ปฏิสัมพันธ์ กับ สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อพฤติกรรมมี ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า กับการ ตอบสนองต่อสิ่งเร้า หลักการเรียนรู้ ที่สำคัญได้แก่ การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก การวางเงื่อนไขปฏิบัติการ และ หลักการเรียนรู้ทางสังคม
2.1 การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของ พาฟลอฟ (Pavlov)
แนวคิดนี้เชื่อว่า มนุษย์ถูกวางเงื่อนไขเพื่อให้แสดง พฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ตามรูปอยู่ตลอดเวลา เงื่อนไข จะถูกวาง ในขณะที่มีสิ่งเร้าอื่น ที่มีอิทธิพลต่อการกระตุ้นเร้าอินทรีย์อยู่ ทำให้มี พฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทั้งสอง อย่างพร้อม ๆ กัน เมื่ออินทรีย์เกิดการเรียนรู้ก็จะทำให้ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ถูก วางเงื่อนไขไว้ได้ นอกจากนี้ การตอบสนองต่อสิ่งเร้า ยังสามารถ แผ่ขยายไปยังสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้อีกด้วย หลักการนี้ ทำให้เข้าใจ เรื่องความรู้สึก หรือ อารมณ์ของบุคคล ที่ไม่อาจหักห้ามได้ เมื่อเจอสิ่งเร้าบางอย่าง เช่น กลัวสิ่งที่ไม่ อันตราย รู้สึกขยะแขยงต่อสิ่งที่ น่าเกลียด เป็นเพราะ ถูกวางเงื่อนไขต่อสิ่งนั้น มาในอดีตตั้งแต่วัยเด็ก
2.2 การวางเงื่อนไขปฎิบัติการของ สกินเนอร์ (Skinner)
การวางเงื่อนไขอีกลักษณะหนึ่ง เป็นการวางเงื่อนไขที่เกิดจากแรงขับ ที่ทำให้อินทรีย์ ปฏิบัติการ เป็นการเกิด พฤติกรรม โดยวางเงื่อนไขระหว่าง พฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งเร้า กับ ผลกรรม (Consequence) ของ พฤติกรรม นั้น พฤติกรรมใด ที่ได้รับ ผลกรรม เป็นที่พึงพอใจ พฤติกรรมนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ต่อสิ่งเร้า อย่างเดียวกัน อีกในโอกาสต่อไป ส่วนพฤติกรรมใดที่ได้รับผลกรรม ไม่เป็นที่พึงพอใจ พฤติกรรมนั้นมี แนวโน้ม ที่จะยุติลงได้ ผลกรรมจะมีลักษณะ เป็นการเสริมแรง พฤติกรรมมี ทั้งรางวัลและการลงโทษ การที่มนุษย์ส่วนมาก แสดงพฤติกรรม ที่ให้ผลกรรม เป็นรางวัล และงดแสดงพฤติกรรมที่อาจถูกลงโทษ หรืองด พฤติกรรม ที่ไม่ได้ รางวัลแล ะแสดงพฤติกรรม เพื่อ หลีกเลี่ยงการถูก ลงโทษเป็นไปตาม ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบปฏิบัติการ
2.3 การเรียนรู้ด้วยการหยั่งเห็น (Insight Learning)
การหยั่งเห็น เป็น พฤติกรรม ที่เกิดขึ้นในสัตว์ชั้นสูง เนื่องจากมี ความซับซ้อนใน ด้านการคิด และ การแก้ปัญหา เพื่อให้เกิด ผลลัพธ์ที่ต้องการ นักจิตวิทยา ตามแนวคิดนี้ท่านหนึ่งชื่อ โคห์เลอร์ (Kohler) ได้ทำการศึกษา กระบวนการแก้ปัญหา ของลิง ในการหยิบอาหารที่อยู่นอกกรง พบว่าลิงมี แบบแผนของการคิด ที่เชื่อมโยงกับ สภาพการณ์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าในขณะนั้น และเลือกที่จะทำ พฤติกรรมที่น่าจะเหมาะสมที่สุด และเมื่อศึกษา ต่อกับ มนุษย์ก็พบผลในทำนองเดียวกัน ตามทฤษฎีนี้ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของบุคคล สามารถกระทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับ กระบวนการคิดของคนผู้นั้น รูปแบบที่ ตอบสนอง แล้วได้ผลดีที่สุดจะเป็นแสดงความฉลาดของ สติปัญญาของมนุษย์
2.4 การเรียนรู้ทางสังคม
การเรียนรู้ทางสังคม เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่กล่าวว่า พฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่เกิดจาก การสังเกตตัวแบบ แล้ว ลอกเลียนพฤติกรรม ของตัวแบบ เฉพาะที่ตัวแบบได้รับการเสริมแรงเป็นรางวัล โดยที่ไม่จำเป็น ที่จะต้องทำ ตามแบบในทันที แต่อาจจะเก็บจำไว้ไปคิด หรือทดสอบ ดูก่อนก็ได้ การที่ได้สังเกตตัวแบบเป็นเวลานาน เช่น ลูกจะมีพ่อแม่เป็นตัวแบบ การเรียนรู้และจะทำตามอย่าง พ่อแม่โดยไม่รู้ตัว เพราะ การเรียนรู้ แบบนี้จะแฝงอยู่ใน ความคิดก่อนที่จะแสดงออกมาให้เด่นชัด พฤติกรรมของบุคคลหลายอย่างเกิดจาก การกระทำตามตัวแบบ ที่เขา นิยมชมชอบ เช่น เพื่อน ดาราภาพยนตร์ นักร้อง นักกีฬา บุคคลที่มีชื่อเสียง พฤติกรรมการเรียนรู้ทางสังคม เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ขั้น พื้นฐาน และส่วนใหญ่เกิดจาก ปัจจัยภายนอก การเรียนรู้ทางสังคม จึงสามารถ ถูกปรับเปลี่ยนไปได้ ตามลักษณะของ การเสริมแรง การสังเกต ตัวแบบ พัฒนาการที่สูงขึ้น ระดับความคาดหวัง ค่านิยม และรูปแบบการคิด (วินัย เพชรช่วยและคณะ, 2543)
http://www.novabizz.com/NovaAce/Behavior/Factor_Psyco.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น