วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ภาวะผู้นำในการแก้ไขวิกฤต

ภาวะผู้นำในการแก้ไขวิกฤต




หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ( วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2555 )


ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน, ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก
วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

วิกฤตการณ์เป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติ จำเป็นต้องมีการแก้ไขโดยผู้นำที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถจะเผชิญกับวิกฤตและแก้ปัญหาวิกฤตได้อย่างทันท่วงที ผู้นำที่อยู่ในภาวะปกติอาจจะมีความสามารถในการบริหารจัดการได้ดี แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤตอาจมีความสามารถ ความกล้าหาญไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาอปกติของสังคม

วิกฤตเริ่มต้นจากการเกิดปัญหาโดยการแก้ปัญหานั้นกระทำโดยผิดวิธี ไม่ทันกับเวลา จึงได้ขยายวงออกไปจนปัญหาดังกล่าวกลายเป็นวิกฤตที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ และมาตรการนอกเหนือเหตุการณ์ปกติในการแก้ไขเยียวยา ถ้าแก้วิกฤตไม่สำเร็จก็อาจจะลามไปถึงขั้นกลียุคส่งผลอันตรายต่อสังคมและระบบการเมือง และถ้ายังไม่สามารถหยุดยั้งได้ก็อาจจะเข้าถึงจุดที่เรียกว่ามิคสัญญี เกิดการเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เกิดความเสียหายต่อกายภาพเหลือคณานัป

ความสามารถในการแก้ปัญหาวิกฤตจึงเป็นจุดแรกของการสกัดให้วิกฤตอยู่กับที่ นอกเหนือจากวิกฤตที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้วยังต้องเข้าใจว่าวิกฤตมีที่มา 2 แหล่ง
ก) วิกฤตอันเกิดจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย โรคระบาด อันเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น กรณีอุทกภัยที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตอันใหญ่หลวง หรือในกรณีแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นตัวอย่างของวิกฤตที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
ข) วิกฤตที่มาจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การก่อวินาศกรรมโดยผู้ก่อการร้าย หรือการเกิดสงครามขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างหนัก วิกฤตดังกล่าวนี้เป็นวิกฤตที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น จึงแตกต่างจากวิกฤตอันเกิดจากธรรมชาติ

การแก้ไขวิกฤตเกี่ยวข้องกันหลายตัวแปร
ตัวแปรแรก ผู้นำที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจโดยการคิดดักปัญหาล่วงหน้าถึงปัญหาและวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นจริงก็จะนำไปสู่ความไม่พร้อม บางครั้งถึงกับขวัญเสีย ดังนั้น ระบบการเมืองและผู้นำที่มีความสามารถจะต้องมีการศึกษาข้อมูล ดูความเป็นไปได้ของวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะยาว ความสามารถในการดักปัญหานี้จะทำให้มีความพร้อมในการแก้ปัญหาวิกฤต

ตัวแปรที่สอง เมื่อเผชิญกับวิกฤตในเบื้องต้นผู้นำต้องมีความรู้และความเข้าใจว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขั้นเป็นวิกฤต ถ้าไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่อาจจะส่งผลในทางลบอย่างกว้างขวาง ก็ย่อมจะมองปัญหาแบบผ่านๆ ความไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ถูกจุดเนื่องจากความนิ่งนอนใจว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่

ตัวแปรที่สาม ความรู้ในการแก้ปัญหาวิกฤต หรือพูดง่ายๆ คือองค์ความรู้ที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตขยายตัว ปัดเป่าบรรเทาปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำ ถึงแม้จะตระหนักถึงการเกิดวิกฤตและมีความเข้าใจถึงสาเหตุและความเป็นมาของวิกฤตนั้น แต่ถ้าขาดความรู้ที่จะแก้ไขปัญหาก็เป็นเพียงความสามารถรับรู้เท่านั้น เหมือนกับรู้ว่าคนไข้ป่วยเป็นโรคอะไร แต่ไม่รู้จักวิธีรักษา

ตัวแปรที่สี่ องค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล มีสมรรถนะในการแก้ปัญหา ถ้าองค์กรดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ หรือขาดบุคลากร ขาดความรู้ความสามารถ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ องค์กรดังกล่าวก็ไม่สามารถถูกใช้โดยผู้นำในการแก้วิกฤตได้ ที่สำคัญคือ ถ้าองค์กรที่มีอยู่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น เช่น รถยกของหนัก ดังเช่นกรณีตึกถล่มที่โคราช เดชะบุญที่ได้ทหารช่างมาช่วยยกสิ่งปรักหักพังเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต ถ้าขาดเครื่องมือดังกล่าวก็ยากที่จะทำการแก้ปัญหาวิกฤตได้

ตัวแปรที่ห้า ผู้นำที่จะแก้ปัญหาวิกฤตได้จะต้องสามารถระดมสรรพกำลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งการช่วยเหลือจากต่างประเทศในกรณีจำเป็น เพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าวอย่างฉับพลัน ขณะเดียวกันต้องมีกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้สามารถกระทำการที่ไม่สามารถกระทำได้ในยามปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและฉับพลันในการแก้ปัญหา

ตัวแปรที่หก สภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ จะต้องเอื้ออำนวยต่อการแก้ปัญหาวิกฤต กรณีที่เห็นชัดก็คือ วิกฤตที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นได้สะท้อนให้เห็นถึงความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ การเสียสละ ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ในกรณีอุทกภัยของประเทศไทยนั้นสภาพแวดล้อมบางส่วนไม่เป็นมิตรกับการแก้ปัญหาวิกฤต ตัวอย่างเช่น การพยายามพังเขื่อนกั้นน้ำเพื่อจะได้มีโอกาสได้ค่าจ้างจากการพายเรือรับส่งผู้โดยสาร การใช้ตะปูเรือใบโรยยานพาหนะที่จะเข้าไปช่วยปัญหาน้ำท่วม การรื้อเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำ การงัดแงะลักขโมยในยามวิกาล ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่ทำให้การแก้ปัญหาวิกฤตกระทำได้โดยยากลำบาก

ตัวแปรที่เจ็ด ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กรของรัฐ เช่น ฝ่ายการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการปกครองท้องถิ่น ซึ่งต้องร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันร่วมกับภาคเอกชน จะเป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้บริหาร กทม. ในอุทกภัยที่ผ่านมานั้นบ่งให้เห็นถึงความอ่อนแอของกลไกของรัฐในการแก้ปัญหา ผลในทางลบที่เกิดขึ้นย่อมตกอยู่กับประชาชนและสังคมโดยรวม

ตัวแปรที่แปด ผู้นำที่แก้ปัญหาวิกฤต นอกจากต้องมีสภาพเอื้ออำนวยต่างๆ  7 ข้อแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ สามารถนำส่วนต่างๆ ของสังคมแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง (to be in command) ผู้นำดังกล่าวอาจจะต้องมีบารมีในระดับหนึ่ง มีความน่าเชื่อถือ แต่ที่สำคัญที่สุด จะต้องกล้าที่จะทำการอย่างห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบากหรือผลเสียที่จะตกอยู่กับตนเอง ลักษณะผู้นำดังกล่าวแล้วนั้นเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะให้เกิดขึ้น ถ้าผู้นำมีลักษณะตกใจง่าย พิศวงงงงวยกับปัญหา สั่งการโดยไม่มีทิศทาง ขาดความรู้ความสามารถ ฯลฯ วิกฤตดังกล่าวก็อาจจะขยายวงเป็นกลียุคในที่สุด

ผู้นำในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นในยามที่สังคมและบ้านเมืองอาจจะเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งภายในประเทศ ภายนอกประเทศ ภัยจากธรรมชาติและจากน้ำมือมนุษย์ แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ นอกจากจะต้องมีผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตได้ ปัญหาอาจจะกลายเป็นว่าสังคมอาจจะเกิดภาวะวิกฤตผู้นำ กล่าวคือ ระบบการเมืองไม่เอื้ออำนวยต่อการมีผู้นำที่จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ดังนั้น การพูดถึงวิกฤตและผู้นำที่แก้วิกฤตคงต้องย้อนไปตั้งคำถามว่า สังคมนั้นกำลังมีภาวะวิกฤตผู้นำหรือไม่อย่างไร

  http://www.dhiravegin.com/detail.php?item_id=001016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น