วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ศิลปความเป็นผู้นำแบบเคออร์ดิก



Leadership # 35


ศิลปความเป็นผู้นำแบบเคออร์ดิก


The Art of Chaordic Leadership


รองศาสตราจารย์ สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์


http://suthep.cru.in.th






บทความนี้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความภาษาอังกฤษ ชื่อ The Art of Chaordic Leadership ของ Dee Hock กูรูผู้ริเริ่มคำศัพท์พร้อมให้ความหมายของคำว่า“CHAORDIC” ขึ้น แต่เนื่องจากแนวคิดในเรื่องนี้ค่อนข้างใหม่ ซับซ้อนและเข้าใจค่อนข้างยาก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ท่านอ่านบทความที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช เรื่อง “การเป็นองค์กรเคออร์ดิก (The CHAORDIC Organization) เสียก่อน ซึ่งหาได้จาก Website: http://suthep.cru.in.th ที่ Management # 69



ในทัศนะของ Dee Hock เชื่อว่า ความรับผิดชอบประการแรกที่สำคัญยิ่งของคนเป็นผู้นำ ก็คือต้องสามารถในการบริหารจัดการตนเองให้ได้เสียก่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับอุปนิสัย (Character) ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ความเป็นคนรอบรู้ (Knowledge) การพูดจา(Words) และการกระทำ (Acts) ผู้นำต้องกล้าปฏิเสธต่อความคิดที่ว่า การบริหารจัดการ(Management) คือ การใช้อำนาจเหนือผู้อื่นที่อยู่ระดับล่างของตน แต่ภาวะผู้นำแบบเคออร์ดิก(Chaordic leadership) จะยึดเอาความสำคัญของภาวะผู้ตาม(Followership) เป็นหลัก ผู้นำจะอาสาเป็นผู้ทำให้เป้าหมาย (Purpose) เกิดความแจ่มชัดและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้คอยดูแลให้เป็นไปตามหลักการแห่งจริยธรรม(Ethical principles) ผู้นำแบบเคออร์ดิกยึดการมีสัมพันธ์ทุกทิศทางทั้งจากระดับล่างขึ้นบน (Upward) ระดับข้างเคียง(Sideward) และลงสู่ระดับล่าง(Downward) จะไม่ใช้วิธีควบคุมสั่งการ(Dictate) แต่จะทำหน้าที่ช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Synergy) เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จด้วยดี


Dee Hock ให้ความหมายของคำว่า “Chaord” เป็นคำคุณศัพท์ของคำว่า “Chaordic” ซึ่งเป็นระบบที่มีความซับซ้อนที่มีทั้งความไร้ระเบียบ(Chaos) และความมีระเบียบ(Order) อยู่ด้วยกัน ซึ่งสภาพนี้สามารถใช้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าง ไม่ว่าระบบร่างกายของสิ่งมีชีวิต บุคคล องค์การ ชุมชน และสังคมก็ได้ โดยระบบเหล่านี้ล้วนมีคุณลักษณะที่เหมือนกันก็คือ สามารถจัดระบบโครงสร้างได้เองที่เรียกว่า Self-organizing และมีความสามารถบริหารจัดการตนเองได้ที่เรียกว่า Self-governing ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะควบคุมตัวเอง ตรวจสอบตัวเองได้ มีความสามารถในการปรับตัว (Adaptive)ได้เองตลอดเวลา และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear) แต่มีความซับซ้อน (Complex) ยกตัวอย่างของคุณลักษณะเหล่านี้ถ้ามองลงในองค์การธุรกิจอย่างหลวมๆ ก็พอจะมองเห็นว่า ได้แก่ การดำเนินธุรกิจขององค์การที่สามารถหลอมรวมเอาแนวคิดทั้งมุ่งการแข่งขัน (Competition)และมุ่งการร่วมมือ (Cooperation)ไว้ด้วยกันอย่างลงตัว หรือถ้าประยุกต์แนวคิดนี้ลงในงานทางการศึกษาก็คือ สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างผสมกลมกลืนระหว่างหลักการเรียนรู้ทางทฤษฎี (Theoretical learning) กับหลักการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง(Experiential learning) ควบคู่กันไปได้อย่างลงตัว เป็นต้น


ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ (Leader) กับ ผู้ตาม (Follower)


Dee Hock อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ (Leader)กับ ผู้ตาม (Follower) ว่า แท้จริงแล้ว ผู้นำก็คือผู้ตาม และผู้ตามก็ควรมีสิทธิ์กำหนดทางเลือกต่างๆขององค์การ โดยเห็นว่า ใครก็ตามที่ถูกบังคับให้ต้องทำงานตามคำสั่งหรือถูกบังคับโดยผู้อื่น ผู้นั้นย่อมมิใช่เป็นผู้ตามที่แท้จริง (True follower)เพราะเป็นเพียงเสมือนวัตถุอย่างหนึ่งที่ถูกกระทำตามวัตถุประสงค์ของผู้อื่น แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ตามแต่ก็เป็นการยินยอมที่ถูกครอบงำ (Dominate) จากอีกฝ่ายหนึ่ง ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต้องมิใช่มาจากความเชื่อที่ว่า ผู้นำที่แท้จริงต้องคู่กับการนำ หรือผู้ตามที่แท้จริงต้องคู่กับการตามแต่อย่างใด และเมื่อไรก็ตามที่เชื่อเช่นนี้ก็กลายเป็นว่า บุคคลทั้งสองฝ่ายจะมิใช่เป็น ผู้นำหรือผู้ตามอีกต่อไป พฤติกรรมใดที่เป็นแบบข่มขู่หรือบังคับไม่ว่าโดยการใช้กำลัง โดยเพราะความจำเป็นต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ หรือโดยเงื่อนไขต้องจำยอมเพราะสัญญาก็ตาม ย่อมนำมาสู่ความสัมพันธ์ต่อกันแบบผู้บังคับบัญชากับผู้ไต้บังคับบัญชา ผู้บริหารกับพนักงาน นายกับบ่าว เจ้าของกับผู้รับใช้ เป็นต้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการยึดเอาวัตถุเป็นเกณฑ์ ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์ในความหมายที่แท้จริงของการเป็นผู้นำกับผู้ตาม


การใช้วิธีการเหนี่ยวนำด้วยพฤติกรรม (Induced behavior) เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม เราเคยเชื่อว่าพฤติกรรมแบบที่ใช้การบังคับเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเป็นผู้นำ แต่ผู้นำแบบนี้มักพบว่าเป็นทรราช (Tyranny) แม้จะมีจิตใจที่เมตตาก็ตาม ในขณะที่การใช้พฤติกรรมแบบเหนี่ยวนำเป็นกลไกทางภาวะผู้นำที่ทรงพลัง แต่ต้องเข้าใจว่า ภาวะผู้นำไม่จำเป็นเสมอไปว่า ต้องเหนี่ยวนำไปในทิศทางบวกที่สร้างสรรค์ มีจริยธรรมและเป็นพฤติกรรมที่เปิดเผยให้เห็นได้เสมอไป แต่อาจเหนี่ยวนำไปในทิศทางลบเชิงทำลาย มีเจตนามุ่งร้าย มีพฤติกรรมคดโกงโดยใช้วิธีการทุจริตต่างๆก็ได้ ดังนั้น จึงสามารถสรุปให้ชัดเจนได้ว่า การมีวัตถุประสงค์ที่สร้างสรรค์และการยึดมั่นในหลักการทางจริยธรรมที่ได้มาจากการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำของสมาชิกทุกคน คือ รากฐานที่สำคัญยิ่งของแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกทุกคนในแทบทุกองค์การ


มีคำถามที่สำคัญว่า แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่มีหน้าที่นำเรา (Lead) จะเป็นคนที่มีความสร้างสรรค์ มีจริยธรรม เปิดเผย โปร่งใสและซื่อสัตย์สุจริต คำตอบก็คือ เราต้องเลือกที่จะตาม(Follow) เฉพาะผู้ที่มีคุณลักษณะและประพฤติตนเช่นว่านี้ ด้วยเหตุนี้โดยความจริงแล้ว ผู้ตามก็สามารถที่จะนำองค์การของตนได้โดยมีอิสระเช่นกัน ทั้งนี้โดยเลือกที่จะกำหนดเป้าหมายว่า จะนำพาหน่วยงานของตนไปในทิศทางใดนั่นเอง


ผู้นำที่แท้จริง (True leader) ต้องสามารถปลูกฝังความรู้สึกร่วมในความเป็นชุมชน(Community)เดียวกันของสมาชิกทุกคน โดยทำตนเป็นสัญลักษณ์ (Symbolize) เป็นตัวแทนที่ชอบธรรมตามกฏหมาย (Legitimize) ขององค์การ และสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมอย่างเข้มแข็งให้สอดคล้องกับความรู้สึกเป็นชุมชนนั้น จะต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างและถ่ายทอดความรู้สึกร่วมของสมาชิกในแง่วัตถุประสงค์ ค่านิยม และความเชื่อสำคัญขององค์การ โดยพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้นำ จะต้องเกิดมาจากการถูกเหนี่ยวนำด้วยพฤติกรรมของสมาชิกอื่นๆที่ตนนำ เพื่อให้ไปบรรลุตามเป้าหมายที่พวกตนได้กำหนดไว้


กล่าวโดยสรุป ประเด็นสำคัญที่ต้องยึดเป็นหลักก็คือ ผู้มีความเป็นผู้นำที่แท้จริง (True leadership) จะแสดงแสดงออกด้วยพฤติกรรมประจำตัวในการเหนี่ยวนำผู้อื่นไปในทิศทางดีงาม


ในขณะที่ผู้ซึ่งมีความเป็นทรราช (Tyranny) ในตน หรือชอบบริหารผู้อื่นด้วยวิธีครอบงำ (Dominator management) มักแสดงออกด้วยพฤติกรรมเชิงใช้อำนาจบังคับอยู่เป็นเนืองนิตย์และชอบที่จะเหนี่ยวนำผู้อื่นไปในทิศทางที่เลวร้าย (Evil) เสมอ


Dee Hock ได้เล่าถึงประสบการณ์จากการได้พบปะกับผู้บริหารองค์การแบบต่างๆที่ประสบความสำเร็จมามากมายเกือบตลอดชีวิต เพื่อถามหาความหมายของคำว่า “การบริหารจัดการ (Management) กับ ความใฝ่ฝันเป็นผู้บริหาร (Aspiration)” แต่มักได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนและสับสนยิ่งขึ้น เขาจึงเปลี่ยนมาถามคนเหล่านี้ด้วยคำถามใหม่โดยให้ระบุว่า “ความรับผิดชอบหนึ่งอย่างที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารคืออะไร” พบว่าคำตอบที่ได้จากเกือบทุกคนมักคล้ายคลึงกัน กล่าวคือยึดแนวทางการเป็นแบบผู้มองจากบนลงล่าง (Downward-looking) โดยเชื่อว่า การบริหารจัดการก็คือการใช้อำนาจ (Management as exercise of authority) เพื่อการคัดเลือก (Selecting)พนักงาน ทำการจูงใจ(Motivating) ให้การฝึกอบรม(Training) ทำการประเมินผลงาน(Appraising) จัดบรรจุในงาน(Organizing) และ ทำการควบคุม(controlling) เป็นต้น ซึ่งในทัศนะของ Dee Hock เห็นว่า ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องโดยสิ้นเชิง


Dee Hock เชื่อว่า ความรับผิดชอบที่สำคัญตามลำดับของผู้บริหาร ควรเป็นเรื่องต่อไปนี้


ประการแรกที่สำคัญสูงสุดของผู้บริหาร ก็คือ ต้องบริหารตนเองเสียก่อน (Mange self) กล่าวคือ


ต้องบริหารตนเองในเรื่อง ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ความมีอุปนิสัย (Character) ที่ดีงาม


การมีจริยธรรม (Ethics) สร้างความรอบรู้ (Knowledge) เพิ่มความเฉลียวฉลาด (Wisdom) พัฒนาความสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี (Temperament) และยึดมั่นในการรักษาคำพูดให้ต้องสอดคล้องกับการกระทำ (Words and acts) เป็นต้น การบริหารตนเองในเรื่องเหล่านี้ล้วนมีความสลับซับซ้อนมากไม่มีวันจบสิ้น ยุ่งยากลำบากอย่างเหลือเชื่อและเรามักจะหลีกเลี่ยงที่จะทำอยู่เนืองนิตย์ เราจึงให้เวลาค่อนข้างน้อยมากเพื่อการบริหารตนเองให้ดี และลึกๆเรามัก


เชื่อว่าการพร่ำสอนและการควบคุมพฤติกรรมของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ใดแม้จะมีตำแหน่งหน้าที่สูงส่งเพียงใดก็ตาม ถ้าขาดซึ่งการบริหารตนเองแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ของตน ทั้งนี้เพราะยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเพียงไรยิ่งสามารถสร้างความหายนะเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น เนื่องจากการบริหารตนเองมีความสำคัญมาก ผู้บริหารจึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 50% ของเวลาที่มีทั้งหมดใส่ใจกับการบริหารตนเองอย่างเต็มความสามารถ ถ้าทำเช่นนี้ได้ ย่อมแน่นอนว่า ความมีคุณธรรม (Moral) จริยธรรม (Ethical) และคุณลักษณะที่งดงามทางจิตใจ (Spiritual elements)ย่อมตามมาแก่ตัวเราเองในที่สุด






ประการที่ 2 ที่เป็นความรับผิดชอบสำคัญของผู้บริหาร ก็คือ ต้องทำการบริหารจัดการต่อผู้ที่มีอำนาจเหนือเรา (To manage those who have authority over us) ซึ่งได้แก่ นาย (Bosses) ผู้นิเทศงาน (Supervisors) ผู้อำนวยการ (Directors) ผู้ควบคุมกฎ (Regulators) และอื่นๆ เพราะถ้าขาดความเห็นชอบและการสนับสนุนจากบุคคลเหล่านี้ เราจะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้นถูกต้อง จะตัดสินใจอย่างไรจึงเหมาะสม จะสามารถคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆได้หรือไม่ สิ่งที่เราทำอยู่นั้นให้ผลเชิงสร้างสรรค์หรือผลเสียหายแก่องค์การ ดังนั้นการบริหารผู้บังคับบัญชาจึงสำคัญมาก จึงควรใช้เวลาและความสามารถไปกับการบริหารด้านนี้ไม่มากไม่น้อยประมาณ 25 % ของเวลาทั้งหมด


ประการที่ 3 ที่เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารคือ การบริหารเพื่อน (To manage one’s peers)


(คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ต้องบริหารผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งไม่ถูกต้อง) คำว่า เพื่อน หรือ peers ในที่นี้


หมายถึง ผู้ซึ่งเราไม่มีอำนาจเหนือเขา และเขาก็ไม่มีอำนาจเหนือเรา ได้แก่ เพื่อนฝูง (Associates)


คู่แข่ง (Competitors) ผู้สนับสนุนปัจจัยการผลิต (Suppliers) และ ลูกค้า (Customers) เป็นต้น คนเหล่านี้มีความสำคัญมาก ถ้าหากเขาขาดความเชื่อถือและไม่ไว้วางใจเราแล้ว ก็ยากที่งานจะสำเร็จได้ กลุ่มที่รวมเรียกว่า เพื่อน จึงกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้เราขึ้นสวรรค์หรือลงนรกก็ได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา พลังและความจริงใจไปกับการบริหารคนกลุ่มนี้ราว 20 % ของเวลาทั้งหมด



ประการที่ 4 ที่เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารก็คือ การบริหารผู้ที่ตนมีอำนาจสูงกว่าหรือผู้ใต้บังคับบัญชานั่นเอง และแน่นอนว่า เมื่อเราต้องใช้เวลาไปเกือบหมดแล้วกับการบริหารตนเอง(Manage self) การบริหารผู้บังคับบัญชา (Superiors)และการบริหารเพื่อน (Peers) แล้ว จึงเหลือเวลาเพียงแค่ 5 % เท่านั้น จะทำได้อย่างไร คำตอบก็คือ เราต้องคัดเลือกคนที่มีความเหมาะสม จากนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจความคิดหลัก(Concept)ตามประการที่ 1-3 ดังกล่าว แล้วให้เขาลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเคยชินไปเอง เพราะถ้ากลุ่มคนที่เรามีอำนาจเหนือเขาสามารถที่จะบริหารตนเองได้ สามารถบริหารเราที่เป็นผู้บังคับบัญชาได้ สามารถบริหารกลุ่มคนระดับเดียวกันที่เรียกว่า “เพื่อน”ได้ และสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาอีกทอดหนึ่งเรียนรู้และดำเนินการแบบเดียวกับเขาได้แล้ว ก็ถือได้ว่าเราแทบไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว การใช้เวลาที่เหลืออยู่เพียง 5 % ก็น่าจะพอ จากนั้นก็คอยชื่นชมในความสำเร็จและเราควรถอยห่างไม่เข้าไปก้าวก่ายอีกต่อไป


ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำ(Leadership) เท่ากับการทำให้คนอื่นเป็นคนดี ในยุคโลกาภิวัตน์เชื่อว่า การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลต้องยึดหลักความเป็นเคออร์ดิก (Chaordic) มาดำเนินการ เพราะสามารถส่งเสริมให้คนอื่นเป็นคนดีด้วยตนเอง แต่ในขณะที่อำนาจ (Power) ตำแหน่ง (Position)และเงินตรา(Income)มิอาจสร้างคุณลักษณะเหล่านี้ได้ ในทางตรงข้ามกลับทำให้เกิดความเสียหายได้มากกว่าอีกด้วย


แนวคิดความเป็นผู้นำแบบเคออร์ดิกในทางปฏิบัติ มีตัวอย่างที่เราสามารถจะสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ถ้าเราเป็นผู้ชมระบำบัลเล่ย์ ก็จะพบว่าผลงานอันสวยงาม อ่อนช้อยและคล้องจองพร้อมเพียงกันของคู่เต้นนั้น ช่างน่าอัศจรรย์และคงเกินขีดความสามารถของผู้เต้นแต่ละคนจะสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ถ้าแยกกันทำ ตัวอย่างอื่นที่เป็นทำนองเดียวกันก็ได้แก่ การเล่นกีฬาแบบทีม การแสดงละครเวที และการบรรเลงของวงดนตรีซีมโฟนีออร์เคสตรา เป็นต้น กรณีเหล่านี้เราพบว่า ครูสอนบัลเล่ย์ โค้ชทีมกีฬา ผู้กำกับละครเวที และไวทยากร (Conductor) หรือแม้กระทั่งประธานของบริษัทธุรกิจก็ตาม ต่างพยายามที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติของตนสามารถที่จะกลั่นเอาศักยภาพสูงสุดที่ละคนมีอยู่ออกมาให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าผู้นำใช้วิธีบังคับ บีบคั้นจะไม่มีวันได้ผลงานที่ดีออกมาหรือถ้ามีก็ไม่ยั่งยืน เพราะผลงานดีเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ (Relationships) และการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ที่ดีและเป็นแบบอัตโนมัติของทุกคนในทีมงานนั้นเป็นสำคัญ กรณีเช่นนี้มักพบเห็นในองค์การต่างๆที่ประสบความสำเร็จสูง ซึ่งเพียงแต่ผู้นำสร้างการเริ่มต้นให้เท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีงามก็เกิดขึ้นอย่างคงเส้นคงวาตามมา


อย่างไรก็ตาม ถ้าจะสรุปง่ายๆว่า ผู้นำคือผู้เป็นต้นเหตุ (Cause to happen) ที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จต่องานขององค์การแล้ว ย่อมไม่ถูกต้องตามแนวทางเคออร์ดิก ซึ่งเชื่อว่า ไม่มีใครคนใดที่เป็นต้นเหตุเช่นว่านี้ แต่หน้าที่ของผู้นำก็คือ ให้การยอมรับ (Recognize) และช่วยขจัดปัดเป่าเงื่อนไข (Modify conditions) ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่างๆออกไปมากกว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ที่สร้างความรู้สึกในความเป็นชุมชน (Sense of community) เดียวกันของสมาชิกทุกคน สร้างวิสัยทัศน์ในอนาคต สร้างความมีหลักการที่ช่วยให้ทุกคนใฝ่ฝันที่จะผูกพันต่อวิสัยทัศน์นั้น จากนั้นก็กระตุ้นให้กำลังใจและเพิ่มศักยภาพในการทำงานแก่พวกเขาให้สามารถค้นพบและปลดปล่อยปรีชาสามารถที่สูงเป็นพิเศษของตนออกมา และท้ายสุดคือดูแลรักษาให้เขาอยู่บนเส้นทางนี้อย่างคงเส้นคงวาต่อไป


แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในโลกนี้ทรัพยากรที่ถูกละเลยมากที่สุดและ ถูกนำออกมาใช้น้อยกว่าที่ควร แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดก็ตาม ก็คือ อัจฉริยภาพของมนุษย์ (Human ingenuity) ทั้งนี้เพราะอิทธิพลแนวคิดในยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นการคิด การบริหารจัดการและการทำงานแบบจักรกล (Mechanistic) ได้เข้ามาครอบงำองค์การอย่างกว้างขวาง แนวคิดเช่นนี้เป็นตัวการสำคัญที่บ่อนทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัจฉริยภาพที่มีในมนุษย์ให้ลดน้อยลง


ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว จุดแตกต่างที่เด่นชัดระหว่างผู้นำ (Leaders) กับผู้ตาม (Followers) แทบไม่มีความหมายอะไร กล่าวคือ ในขณะใดขณะหนึ่งของชีวิตพบว่า เรามีทั้งการนำ (Leading) และการตาม (Following) ควบคู่กันไปอยู่เสมอ ไม่มีช่วงเวลาใดที่ความรู้(Knowledge) การตัดสินใจ (Judgment) และความเฉลียวฉลาด(Wisdom)ของเราจะมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้มากกว่าของคนอื่น และในทำนองเดียวกันไม่มีช่วงเวลาใดที่ความรู้ การตัดสินใจ และความเฉลียวฉลาดของคนอื่นจะมีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้มากกว่าของเราเช่นกัน ดังนั้นในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้อื่นก็อาจเป็นผู้บังคับบัญชา (Superior) ผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinate) หรือ เพื่อน (Peer) ของเราก็ได้


เราทุกคนเป็นผู้นำมาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว ถ้าคิดว่าไม่จริงก็ขอให้สังเกตดูว่า เวลาที่ทารกแรกเกิดร้องขึ้น คนที่เป็นพ่อและแม่จะวิ่งวุ่นกันจ้าละหวั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของทารกใช่ไหม ดังนั้น เราจึงเป็นผู้นำมาตั้งแต่ยังเป็นทารก จนกว่าเมื่อเราเข้าโรงเรียนแล้ว เราจะถูกสอน เราจะถูกคนอื่นบริหารจัดการ (To be managed) และเราก็รู้จักบริหารจัดการ (Manage) คนอื่นตามมาด้วย


มนุษย์เรามิใช่วัตถุสิ่งของที่ต้องถูกจัดกระทำ (Manipulate) เป็นขั้นตอน มีการผลิต บรรจุหีบห่อ ปิดตราฉลาก แล้วนำออกซื้อขายในที่สุด และเหนืออื่นใดมิใช่เป็น “ทรัพยากรมนุษย์ (Human resources)” แต่เป็นมนุษย์ (Human beings) ซึ่งมีความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ ดังนั้น เราจึงต้องมาทบทวนแนวคิดเรื่องการนำ (Leading) และการตาม (Following) ด้วยมุมมองใหม่ ต้องทบทวนและตั้งข้อสงสัยต่อแนวคิดเรื่องผู้บังคับบัญชา (Superior) และผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinate) เสียใหม่ ต้องทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ (Management) และการใช้แรงงาน (Labor) ด้วยความเชื่อใหม่ และต้องศึกษาคุณลักษณะที่โดดเด่นและเป็นแนวโน้มสำคัญขององค์การสมัยใหม่ที่มีมุมแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง เป็นต้น


กล่าวโดยสรุป ภาวะผู้นำที่แท้จริง(True leadership) ก็คือ


ภาวะผู้นำโดยทุกคน (Leadership by everyone) ภาวะผู้นำแบบเคออร์ดิก (Chaordic leadership) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภายในตนเอง (In) เรื่องบุคคลระดับเหนือตน (Up) เรื่องบุคคลโดยรอบตน (Around) และเรื่องบุคคลระดับล่างของตน (Down) ซึ่งเป็นแนวคิดภาวะผู้นำใหม่ที่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ต้องการอย่างยิ่ง ทั้งนี้ยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ซึ่งบริหารจัดการที่เน้นการครอบงำเป็นหลัก ได้สร้างความเสียหายหลายประการและไม่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่อีกต่อไป


เพื่อให้เห็นภาพความเป็นผู้นำแบบเคออร์ดิก (On Chaordic Leadership) แจ่มชัดมากขึ้น Dee Hock ได้นำ 13 ประเด็นที่เป็นแนวคิดสำคัญของผู้นำแบบเคออร์ดิกมาขยายความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้




ความเป็นผู้นำเคออร์ดิก (On Chaordic Leadership)




· อำนาจ (power): จะไม่ใช้อำนาจที่แท้จริง(True power) เพราะถ้าท่านใช้มันบ่อย ท่านก็จะไม่มีอำนาจที่แท้จริงเหลืออยู่อีกเลย


· มนุษยสัมพันธ์ (Human Relations): เป็นหลักการที่สำคัญสูงสุดเหนืออื่นใด กล่าวคือ ถ้าท่านปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชา (Subordinates) ก็ขอให้นึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่า “คุณก็มีความสำคัญและยิ่งใหญ่เหมือนกับฉัน เพราะฉนั้นเราจึงเท่าเทียมกัน” ในทำนองเดียวกัน ถ้าท่านต้องเกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชา (Superiors) ก็ขอให้นึกอยู่ในใจตลอดเวลาว่า “ฉันก็มีความสำคัญและยิ่งใหญ่เหมือนกับคุณ เพราะฉนั้น เราจึงเท่าเทียมกัน”


· การวิพากษ์ (Criticism): ถือว่าคำวิพากษ์อย่างจริงใจเป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ (Great asset) ที่มิต้องเสียเงินเสียทองและเสียเวลาซื้อหาแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะเราทุกคนล้วนมีจุดอ่อนที่แสดงออกมาทางพฤติกรรมหรือการกระทำให้เห็นได้ตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการมากก็คือ การรู้จักรับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจ โดยต้องพยายามขับไล่สิ่งที่เป็นอวิชาของตน โดยเฉพาะที่เกิดจากความอคติ ความอิจฉาริษยาและ ความอาฆาตมุ่งร้ายให้ออกไป แล้วต้อนรับแง่คิดมุมมองที่ดีงามเชิงบวกเข้ามาแทนที่


· ค่าตอบแทน (Compensation) เชื่อว่า เงินทองไม่สามารถจูงใจคนดีมีฝีมือไว้ได้และไม่สามารถทำให้คนเหล่านี้ปลดปล่อยความสามารถสูงสุดที่เขามีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างมากที่สุดก็คือ เราสามารถซื้อได้แต่ตัว (Body) และสมอง (Mind) เท่านั้น แต่ไม่สามารถซื้อสิ่งที่เป็นหัวจิตหัวใจ (Heart and spirit) ของคนเหล่านี้ได้ เพราะหัวใจและจิตวิญญาณของพวกเขามีไว้เพื่อเก็บสิ่งที่เป็นความเชื่อ (Belief) ความมีหลักการ (Principle) และ ความมีจริยธรรม (Ethics) เท่านั้น


· ความโอ้อวด(Ego) ความอิจฉา (Envy) ความโลภ (Avarice) และความอยากได้ใคร่เป็น (Ambition) คือสัตว์ร้ายสี่ตัวที่คอยรุมเร้าผู้ครอบครองอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จะคอยเฝ้ากลุ้มรุมทำร้ายต่อผู้ที่ใช้มัน แม้คุณคิดว่าจะสามารถกำกับควบคุมมันได้ แต่ท้ายที่สุดคุณก็จะกลับถูกพวกมันควบคุมเอาไว้โดยสิ้นเชิง


· ตำแหน่งหน้าที่ (Position) ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจจำยอมต้องให้การเชื่อฟังคุณด้วยเหตุที่คุณมีตำแหน่งหน้าที่เหนือเขาอยู่ แต่ที่สำคัญเขาจะนับถือคุณหรือไม่นั้น มาจากการประพฤติปฎิบัติอยู่ทุกวันของคุณต่างหาก และแน่นอนที่สุด ถ้าปราศจากซึ่งการให้ความนับถือ (Respect) เสียแล้ว อำนาจที่คุณมีอยู่ก็จะล่มสลายไปในที่สุด


· การทำผิด (Mistakes) อย่ามองข้ามความผิดแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยของคุณ ถ้าคุณสามารถรับรู้ ให้การยอมรับ พยายามปรับปรุงแก้ไข สามารถที่จะเรียนรู้จากมัน และอยู่เหนือมันได้ คุณก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำไม่ได้ สิ่งนี้ก็จะย้อนกลับมาทำร้ายคุณอย่างรุนแรงได้เช่นกัน


· การบรรลุเป้าหมาย (Accomplishment) ต้องอย่าสับสนว่าเป็นกิจกรรมอย่างเดียวกันกับผลผลิต(Productivity) และต้องไม่ลืมว่าถ้าคุณบรรลุเป้าหมายของคุณได้ ก็ต้องให้คนอื่นบรรลุเป้าหมายของเขาด้วยเช่นกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำตั้งแต่เรื่องเล็กถึงเรื่องใหญ่ล้วนมาจากการคิดอย่างจริงจัง (Intense thought) การตัดสินใจ (Judgment) และการลงมือปฏิบัติ (Action) ดังนั้น จึงต้องให้อิสระต่อผู้อื่นในการคิด การตัดสินใจ และการลงมือปฏิบัติ ด้วยเช่นกัน


· การว่าจ้าง (Hiring) อย่าจ้างหรือหาคนมาเสริมภาพลักษณ์ที่ตัวเราเองมีอยู่แล้ว กล่าวคือ ถือว่าเป็นการไม่ฉลาดเลยถ้าจะจ้างหรือหาคนที่มีจุดเด่น (Strength) หรือมีจุดด้อย (Weakness) เหมือนกับตัวเรา แต่ที่ถูกคือต้องว่าจ้าง ต้องไว้วางใจ และต้องสนับสนุนคนที่มีมุมมอง มีความรู้ความสามารถและมีการตัดสินใจที่แตกต่างอย่างชัดเจนไป


จากเรา และแน่นอนว่ากรณีเช่นนี้ ต้องยอมรับว่า เราจำเป็นต้องใช้ความอ่อนน้อมถ่อมตัว(Humility) ความอดทนใจกว้าง (Tolerance) และความเฉลียวฉลาด (Wisdom) เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ


· การริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity) ปัญหามิได้อยู่ที่ว่า จะหาสิ่งใหม่หรือความคิดใหม่ๆเข้าสู่สมองของเราได้อย่างไร แต่อยู่ที่ว่า เราจะขจัดความคิดเก่าๆที่มีอยู่ออกจากสมองของเราได้อย่างไรต่างหาก เพราะสมองของมนุษย์เราเปรียบไปก็คล้ายกับห้องของอาคารที่บรรจุไปด้วยเฟอร์นิเจอร์โบราณเก่าๆอยู่เต็มไปหมด ดังนั้น เราจึงต้องทำการเก็บ ปัดกวาดทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายของเก่าออกไป เพื่อให้มีพื้นที่ว่างในสมองเกิดขึ้นใหม่เสียก่อน แล้วเมื่อนั้นสิ่งใหม่หรือความคิดใหม่ๆก็จะหลั่งไหลพรั่งพรูเข้ามาแทนที่เอง


· การรับฟัง (Listening) หากเรารู้จักเรียนรู้วิธีรับฟังอย่างตั้งใจ (Listening carefully) ต่อการพูดของผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผลแล้ว เราก็จะสามารถค้นพบข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆได้จากการสังเกตมากมายจากสิ่งที่ผู้นั้นมิได้พูดออกมา ดังนั้น จึงต้องให้ความสำตัญที่จะรับฟังอย่างตั้งใจทั้งต่อเสียงที่พูดจริงและเสียงเงียบจากบุคคลนั้น


· การตัดสินใจ (Judgment) การตัดสินใจถือได้ว่า เป็นการบริหารและพัฒนากล้ามเนื้อสมองเป็นอย่างดี การไว้วางใจ (Trust) ต่อตัดสินใจของตนแม้จะเป็นการตัดสินใจผิด แต่ไม่ช้าก็เร็วเราก็จะทราบและสามารถปรับปรุงใหม่ได้ แต่ถ้าการตัดสินใจที่เราไว้วางใจนั้นก่อให้เกิดผลดีอย่างต่อเนื่อง เราก็จะพบว่าไม่ช้าไม่นานทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นเรื่อยๆจนประสบความสำเร็จในที่สุด ในชีวิตจริงเราคงเคยพบเห็นเรื่องน่าเศร้า ที่คนบางคนต้องล้มเหลวในชีวิตไปเพราะไปไว้วางใจและทำตามการตัดสินใจที่แย่ของคนอื่นแทนที่จะไว้วางใจในตนเอง


· ภาวะผู้นำ (Leadership) ต้องรู้จักนำตนเอง (Lead self) นำผู้บังคับบัญชา (Lead superiors) นำเพื่อน/บุคคลที่เกี่ยวข้อง (Lead peers) และต้องให้อิสระแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตนด้านภาวะผู้นำด้วยหลักการเดียวกันนี้ด้วย ถ้าทำได้เช่นนี้แล้ว เรื่องอื่นที่เหลือก็ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก




ที่มา Dee Hock (1999). In Hesselbein F. & Johnston R. (2002). On Mission and Leadership :





A leader to Leader Guide. San Francisco: Jossey-Bass.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น