วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แก้ไขความขัดแย้ง ด้วยการฟัง

แก้ไขความขัดแย้ง ด้วยการฟัง

ดร.พงศ์ศรันย์  พลศรีเลิศ
phongzahrun@gmail.com
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ผมดูข่าวทางโทรทัศน์ เห็นท่าน โคฟี อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เข้าพบ นายกรัฐมนตรีของไทย และแสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปรองดอง แสดงให้เห็นว่า  ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติกำลังเป็นวิกฤติสำคัญของประเทศไทย
และต่างประเทศกำลังจับตามอง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าประเทศไทยจะสามารถแก้ไขวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร
ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ได้เป็นภาระหน้าที่เฉพาะของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ไขเท่านั้น หากแต่เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องมีส่วนร่วมช่วยกัน ฟื้นฟู แก้ไข คำถามสำคัญ ก็คือว่า แล้วเราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร
ก่อนอื่นเรามาดูก่อนว่า ความขัดแย้งในสังคม น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า คงไม่ขอวิพากษ์ วิจารณ์ ใครทั้งนั้น ด้วยความมุ่งหมายที่อยากให้บทความเป็นประโยชน์ทางวิชาการ และนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานของผู้อ่านทุกท่านได้มากที่สุด
นิวแมน และบรูล (Pneuman and Brueh) ได้กล่าวถึงสาเหตุของความขัดแย้งไว้ตั้งแต่ปี 2525 ว่า มีสาเหตุสำคัญมาจาก ความแตกต่างของตัวบุคคลหรือกลุ่ม  ที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบไปด้วย วัฒนธรรมที่แตกต่าง การศึกษาที่แตกต่าง ค่านิยมความเชื่อที่แตกต่าง ประสบการณ์ที่แตกต่าง การรับรู้ที่แตกต่างกัน
เราจะพบว่า แนวคิดของ นิวแมนและบรูล สอดคล้องกับปรากฎการณ์ความขัดแย้งทางสังคมไทยอย่างมากในขณะนี้ พื้นฐานของคนแต่ละคน และแต่ละกลุ่มคน จะมีกรอบประสบการณ์อ้างอิงในอดีต (Frame of Reference) แต่ละคนไม่เหมือนกัน และเรามักที่จะมีความเชื่อ และตัดสินใจผิดหรือถูก ไปตามกรอบประสบการณ์ของแต่ละคน
ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ชายสองคน มีบ้านอยู่ฝั่งตรงกันข้าม หันหน้าบ้านเข้าหากัน เขาทั้งสองเกิดและโตมาบนถนนเส้นนี้  ถนนที่มีรถวิ่งผ่านหน้าบ้านทุกวัน และเป็นถนนที่อยู่คั่นกลางระหว่างบ้านทั้งสอง ถนนเส้นนี้เป็น One way รถวิ่งไปทางเดียว ชายคนที่หนึ่งบอกว่า “ถนนเส้นนี้ รถวิ่งจากทางซ้ายไปทางขวา”  ชายอีกคนก็เถียงว่า “ไม่ใช่ ถนนเส้นนี้ รถวิ่งจากทางขวาไปทางซ้าย” ทั้งสองคนเถียงกันทุกวัน เพื่อจะเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งด้วยชุดความคิดของตนเอง ในฐานะที่เราเป็นคนนอก มองเข้าไปในปัญหาความขัดแย้งนั้น ใครผิด ใครถูกกันแน่ เราจะพบว่าชายทั้งสองคนถูกทั้งคู่ ไม่มีใครผิดเลย
แต่ที่ผมบอกว่า ถูกทั้งคู่นั้น เพราะชายทั้งสองคน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีข้อมูลที่ถูกต้อง มีกรอบประสบการณ์อ้างอิงในอดีตที่ถูกต้อง และมีชุดความคิดที่ถูกต้อง เพียงแต่ความขัดแย้งเกิดจากการปิดกั้น และไม่ยอมรับฟังความเห็นของอีกฝ่าย เลยไม่สามารถหาจุดร่วมกันที่จะตัดสินได้ เช่น ถ้าบอกว่า ถนนเส้นนี้ รถวิ่งจากทิศเหนือ ไปทิศใต้ ชายทั้งสองคนก็คงเห็นพ้องต้องกันและไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะเขาทั้งสองคนเอาเข็มทิศ เป็นเครื่องมือในการหาจุดร่วมเพื่อใช้ในการตัดสินใจ
ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า ที่สังคมไทยกำลังขัดแย้งกันอยู่นี้ เพราะมีชุดข้อมูลความคิดที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง หรืออยู่บนพื้นฐานของความถูกใจ โดยไม่สนใจว่าความถูกต้องจะเป็นอย่างไร เราพร้อมที่จะเปิดใจให้กว้างพอที่จะรับฟัง ชุดข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ใจเราไม่ชอบหรือเปล่า
มีบันทึกจากปาฐกถาธรรม “การฟังอย่างลึกซึ้ง สู่ศานติสมานฉันท์ : ความรักอันไม่แบ่งแยก” ในเวปไซต์ หมู่บ้านพลัม ของท่านอาจารย์ ติช นัท ฮันท์ อ่านเพิ่มเติมที่ (http://www.thaiplumvillage.org/act500529_news04.html) ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ เลยขอถ่ายทอดเนื้อหาบางส่วนมาให้เราได้อ่านกัน
ในหมู่บ้านพลัมได้เคยนำชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล มาปฏิบัติร่วมกัน อยู่ร่วมกันกับผู้ปฏิบัติธรรมคนอื่นๆ  ในช่วงแรกต่างฝ่ายต่าง ก็ไม่เชื่อถือกัน ทั้งสองต่างก็มีความกลัว ความเกลียด ความระแวงสงสัย ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถมองหน้ากันและกันได้ ในช่วงแรก ได้ให้ทั้ง 2 ฝ่าย ปลดปล่อย ความตึงเครียดด้วยการอยู่กับลมหายใจ มีสติในการเดินและการนั่ง เพื่อตระหนักรู้ในความทุกข์ และ ความเจ็บปวด
ในสัปดาห์ที่ 2 ได้เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ใช้วาจาแห่งสติ วาจาแห่งความรัก เพื่อให้เขาได้รับฟังความทุกข์ ความยากลำบากของอีกฝ่าย นำความโกรธ ความกลัว มาบอกเล่าว่าเขาระแวงสงสัยอะไรบ้าง การฟังอย่างกรุณาจะช่วยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง
มีผู้คนมากมายที่มีความทุกข์ใหญ่หลวงแต่ไม่มีใครฟังเขาอย่างลึกซึ้ง นั่นจึงเป็น เหตุผลว่า ทำไมเขาจึงต้องหันไปหานักจิตบำบัด เพื่อหาใครสักคนที่จะรับฟังเขาอย่าง ลึกซึ้ง การฟังอย่างลึกซึ้งจะช่วยให้อีกฝ่ายระบายความทุกข์ออกมา การฟังอย่างลึกซึ้งมี จุดมุ่งหมายเพียงประการเดียวคือ เพื่อปลดปล่อยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง การฟัง อย่างลึกซึ้งคือความเมตตา กรุณา เราควรบ่มเพาะความเมตตากรุณาในสวนแห่งจิตใจ ของเราเสมอ
ในขณะที่เราฟัง เราอาจได้ยินถ้อยคำที่เต็มไปด้วยการตำหนิ  วาจาเหล่านั้นอาจ รดน้ำเมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธ ความไม่พอใจของเรา จนเรารู้สึกว่าจะไม่สามารถทนฟัง ต่อไปได้ เพราะวาจาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิด เขาเข้าใจผิด ขอให้เราตระหนักรู้ เรียนรู้การฟังอย่างลึกซึ้ง ตามลมหายใจเข้าและออก รักษาจิตใจแห่งความกรุณา บอกกับ ตนเองว่า เรากำลังอยู่ในชั่วโมงการฟังอย่างลึกซึ่ง ฟังอีกฝ่ายที่มีความทุกข์ ให้เขาได้ ระบายออก หากเราฝึกสิ่งเหล่านี้ได้ เราก็จะได้รับการปกป้องจากความเมตตา กรุณา เช่นกัน
เราจะไม่หยุดคำพูดของเขา ไม่สวนกลับ ไม่โกรธ เราจะฟังอย่างนิ่งสงบ เราจะยัง ไม่พูดว่าเธอผิด แม้ว่าเราจะรู้ว่าเขาพูดผิด เขามีข้อมูลที่ผิด เราจะยังไม่แก้ไขสิ่งเหล่านั้น ทันที แต่จะรออยู่ สัก 2-3 วัน จึงค่อยแก้ไขข้อผิดพลาด เพราะในระหว่างการฟัง อารมณ์ ของเราอาจยังไม่ปราณีตแยบคายเพียงพอ ฉะนั้นในช่วงท้ายของการฟังอย่างลึกซึ้ง เราอาจกล่าวขอโทษอีกฝ่ายก็ไม่มีอะไรเสียหาย ในขณะที่เราพูด เราอาจรู้ว่าแท้จริงแล้ว เราก็ผิดด้วย เราเองก็อาจมีความคิดเห็นที่ผิด จึงแสดงปฏิบัติกิริยาที่ไม่ดีต่ออีกฝ่าย เรา อาจจะขอบคุณอีกฝ่าย ที่เขาบอกเล่าถึงความทุกข์ของเขาให้เราได้รับรู้
แม้ว่าในขณะนั้นเราสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ แต่เราจะใช้เวลาอีก 2-3 วัน จึงจะ บอกเล่า เราไม่ควรพยายามยืนยันข้อมูลทันที ในช่วงที่อีกฝ่ายยังไม่สามารถรับข้อมูลได้ แม้เราจะรู้ว่าข้อมูลที่เขาพูดมานั้นผิดทั้งหมด ความเป็นจริงนั้นเปรียบเสมือนยาที่ดี แต่การ ให้ยาดีมีประสิทธิภาพสูง ก็ต้องรู้ว่าคนไข้มีความสามารถรับยาได้ในปริมาณแค่ไหน การให้ยาที่ดีมากเกินไปในคราวเดียว ก็เปรียบเสมือนการให้ยาที่มากเกิน (over doze) คนไข้อาจตายได้ เช่นเดียวกัน บางทีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็ต้องมีการตระเตรียม เราจะ ไม่พูดออกไปครั้งเดียวทั้งหมด เราต้องค่อยๆ กล่าว การฟังอย่างมีสติ จะทำให้สองฝ่าย ค่อยๆ เข้าใจกัน เมื่อแต่ละฝ่ายเห็นความทุกข์ของกันและกัน ก็จะช่วยปลดปล่อยความ โกรธ เกลียด ที่มีต่อกันได้ และสามารถมองอีกฝ่ายด้วยสายตาแห่งความกรุณา โดยมี ความเข้าใจเป็นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลปฏิบัติได้
ถึงแม้ผมจะทำหน้าที่เป็นครู อาจารย์ ซึ่งงานของผมส่วนใหญ่คือ “การพูด” ให้ลูกศิษย์ได้ฟัง แต่ผมก็ตระหนักเสมอว่า “การรับฟัง” เป็นทักษะอย่างหนึ่งที่สำคัญ เพราะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเข้าใจในคำถามของลูกศิษย์ที่สงสัยในการบรรยายของผม และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นที่กำลังสื่อสารกับเรา
การเป็นผู้ฟังที่ดีจึงทำให้เราเข้าใจทั้งการสื่อสารและความรู้สึกได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเราจะรับฟังสิ่งใดเราจึงควรรับฟังอย่างตั้งใจ พูดทวนในสิ่งที่ได้ยินเมื่อไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจถูกหรือไม่ การเป็นผู้ฟังที่ดียังช่วยให้เราเป็นที่รักของผู้อื่น ทำให้เพื่อนอยากพูดคุยคบหากับเราเพราะรู้สึกว่าเราเข้าใจใส่ใจและสนใจในตัว เขา
ผมชอบคำกล่าวของลูกศิษย์ปริญญาโทของผมท่านหนึ่ง เขียนโพสใน Facebook ว่า ความเงียบ (Silent)  และ การฟัง (Listen)   บังเอิญหรือเปล่าที่ภาษาอังกฤษใช้อักษรชุดเดียวกัน หรือ เหมือนจะบอกให้เรา “เงียบ” บ้าง “ฟัง” บ้าง ”
โดนใจจริงๆ เลยครับ ถ้าเราต่างหยุดที่จะแย่งกันพูด หยุดที่จะตะแบงว่าใครผิด ใครถูก ใครเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ใครเป็นคนผิด แล้วเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้ฝ่ายหนึ่งได้ใช้วาจาแห่งสติ วาจาแห่งความรัก บอกเล่าว่าเขามีความระแวงสงสัย ความแคลงใจ ความทุกข์ในใจอะไร  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ใช้ความเงียบ และการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) เพื่อให้เขาได้รับฟังความทุกข์ ความยากลำบากของอีกฝ่าย รับฟังอย่างมีความเมตตา กรุณา จะช่วยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง
แล้วเมื่อใจของคนในสังคมเริ่มที่จะเปิดกว้าง รับฟังข้อมูล พิจารณาว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความถูกต้อง ความสมานฉันท์ของคนในชาติ ก็จะเริ่มกลับคืนมา ลองเริ่มต้นปฏิบัติ กับคนในบ้าน คนในชุมชน คนในสถานศึกษา คนในที่ทำงาน โดยไม่ต้องฝากความหวังไว้ ด้วยการรอคอยการเยียวยาจากใครต่อใคร กันนะครับ
http://phongzahrun.wordpress.com/2012/02/21/%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น