วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทฤษฎีพฤติกรรมและท่วงทำนองของผู้นำ (BEHAVIORAL AND STYLE THEORIES)


 ในโลกยุคทุนนิยมเสรีข้ามชาติที่มีทั้งการร่วมมือและการแข่งขันสูง ศาสตร์แห่งการนำ ซึ่งรวมทั้งการบริหารจัดการ การพัฒนาคน และการพัฒนาองค์กรฯลฯ เป็นศาสตร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีนักวิชาการที่พยายามศึกษาวิจัยว่า “ทำอย่างไรจึงจะมีผู้นำและภาวะการนำที่มีประสิทธิภาพ” เสนอแนวคิดทฤษฎีเรื่องผู้นำออกมาจำนวนหนึ่ง
      
       ทฤษฎีที่พัฒนาต่อมาจากทฤษฎีอุปนิสัย คือ ทฤษฎีพฤติกรรมและท่วงทำนองของผู้นำ เป็นทฤษฎีที่เติบโตในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 ทฤษฎีนี้แตกต่างจากนักคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้นำรุ่นแรก ๆ ตรงที่เสนอว่า คนเราไม่ได้เป็นผู้นำมาแต่กำเนิด แต่พัฒนาความเป็นผู้นำขึ้นภายหลังได้ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในโลกของการปฏิบัตินั้น ประสบความสำเร็จได้จากพฤติกรรมบางอย่างที่เราสามารถให้คำจำกัดความได้ และสามารถเรียนรู้ได้
      
       นักทฤษฎีพฤติกรรมฯผู้นำเปลี่ยนมุมมองที่เคยเน้นเรื่องตัวผู้นำไปสู่เรื่องภาวะการนำ โดยเห็นว่าภาวะการนำ (LEADERSHIP) คือพฤติกรรมหรือการกระทำชุดหนึ่งของมนุษย์ต่อคนอื่นเช่นผู้ตามที่สามารถอธิบายได้ และสามารถสรุปได้ว่าพฤติกรรมของผู้นำที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร ทำให้เป็นไปได้ที่คนเราจะฝึกการเรียนรู้เพื่อสร้างพฤติกรรมแบบเดียวกันกับผู้นำที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
      
       ทฤษฎีพฤติกรรมคือการก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากทฤษฎีอุปนิสัย การมองว่าความสามารถในการนำเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ไม่ใช่มาจากอุปนิสัยบุคลิกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้เกิดการขยายตัวของการศึกษาและการพัฒนาภาวะผู้นำอย่างขนานใหญ่ ส่วนหนึ่งก็มาจากการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ทำให้สังคมสมัยใหม่ต้องการผู้นำในภาคธุรกิจเอกชน(รวมทั้งผู้นำทางสังคมและการเมือง)เพิ่มขึ้นอย่างมาก
      
       DAVID Mc CLELLAND มองว่าภาวะการนำ คือทักษะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ชุดของอุปนิสัยหรือความสามารถ แต่เป็นแบบแผน (PATTERN) ของพฤติกรรมที่มาจากแรงผลักดันของคนที่ต้องการนำ
      
       เขาอ้างจากการศึกษาวิจัยของเขาว่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีแนวโน้มเป็นคนที่ต้องการการมีอำนาจสูง มีความต้องการคบหาสมาคมผูกพันกับใครโดยเฉพาะต่ำ และมีการควบคุมตนเองหรือการข่มใจที่จะเลือกว่า ควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไรได้สูง
      
       แบบแผนของพฤติกรรมที่แตกต่างกันถูกจัดกลุ่มเข้าด้วยกันและเรียกว่าท่วงทำนองหรือสไตล์ (STYLE) การนำแบบต่าง ๆ
      
        KURT LEWIN, RONALD LIPITT และ RALPH WHITE เสนองานวิจัยในปีค.ศ.1939 ว่าท่วงทำนองการนำ (STYLE) ของผู้นำมี 3 แบบที่สำคัญคือ
      
       1. แบบ AUTHORIARIAN เน้นการใช้อำนาจสั่งการโดยผู้นำ
      
       2. แบบ DEMOCRATIC เน้นการอภิปรายและการตัดสินใจรวมหมู่ โดยการช่วยเหลือจากผู้นำ
      
       3. แบบ LAISSEZ FAIRE ปล่อยเสรีให้กลุ่มตัดสินใจและดำเนินการเองโดยผู้นำไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกจากจะได้รับการร้องขอ
      
       เมื่อเปรียบเทียบผลการทำงานระหว่างท่วงทำนองการนำ 3 แบบนี้ ปรากฎว่าแบบประชาธิปไตยได้รับการยอมรับมากที่สุด
      
       แต่นักทฤษฎีผู้นำขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ซึ่งพัฒนาขึ้นภายหลังจะวิเคราะห์ว่า สถานะการณ์ที่ต่างกันอาจต้องการท่วงทำนองการนำที่ต่างกัน เราไม่สามารถระบุว่า แบบไหนดีที่สุดในทุกสถานะการณ์ได้ ต้องดูที่ผลงานของผู้นำ(และองค์กรที่เขานำ)เป็นสำคัญ
      
        ROBERT BLAKE และ JANE MOUTON เสนอแนวคิดแบบตารางแสดงท่วงทำนองของผู้บริหาร MANAGERIAL GRID ในปี 1964 (ภายหลังเรียกว่า LEADERSHIP GRID) ว่ามีสิ่งสำคัญที่สุด 2 สิ่งที่ผู้นำสนใจ คือคนและเป้าหมายของงาน ผู้นำแต่ละคนจะสนใจคนและเป้าหมายของงานในระดับมาก ปานกลาง และน้อยแตกต่างกัน ที่เราอาจใช้เป็นฐานในการพิจารณาว่า เขาเป็นผู้นำที่มีท่วงทำนองการนำแบบไหนได้
      
       นักวิชาการทั้งสองได้แบ่งผู้นำที่มีพฤติกรรมหรือสไตล์การบริหารต่างกันเป็น 5 แบบ คือ
      
        1. ผู้นำแบบบริหารจัดการไม่เป็น คือผู้นำประเภทที่สนใจทั้งคนและผลของงานน้อย เป็นประเภทขี้เกียจไม่ชอบทำงาน หรือทำแค่พอผ่าน
      
        2. ผู้นำแบบใช้สิทธิอำนาจและการเชื่อฟัง คือผู้นำประเภทที่สนใจผลงานมาก แต่สนใจเรื่องคนน้อย เน้นเรื่องประสิทธิผลขององค์กร รวมทั้งการลดการจ้างงานคน
      
        3. ผู้นำแบบผู้จัดการสโมสร คือผู้นำประเภทที่สนใจคนมาก แต่สนใจผลการทำงานน้อย เป็นคนสร้างบรรยากาศเป็นมิตร ทำให้คนในองค์กรพอใจ แต่ผลงานอาจจะออกมาไม่ค่อยดี
      
        4. ผู้นำสายกลาง คือผู้นำที่สนใจทั้งคนและผลการทำงานในระดับปานกลางพอกัน เป็นผู้นำประเภทที่ทำงานมากพอที่จะให้งานเสร็จ แต่ไม่พัฒนาไปไกลกว่าขอบเขตที่วางไว้
      
        5. ผู้นำแบบบริหารเป็นทีม คือผู้นำที่สนใจทั้งคนและผลการทำงานทั้ง 2 อย่าง ในระดับมาก เขาจะผูกพันรับผิดชอบกับคนในองค์กร และทำให้คนในองค์กรผูกพันรับผิดชอบการงาน ทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานที่ได้ผลดี
      
        โดยเปรียบเทียบแล้ว ผู้นำแบบบริหารเป็นทีม คือผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูง
      
        แต่นักทฤษฎีผู้นำขึ้นอยู่กับสถานะการณ์จะมองว่า ผู้นำแบบ 2-4 อาจจะเหมาะกับสถานะการณ์บางสถานการณ์ได้ การมองความสำเร็จของผู้นำควรมองที่ผลงานของเขา มากกว่าแค่การมองว่าเขาบริหารท่วงทำนองไหน
      
       ทฤษฎีพฤติกรรมและท่วงทำนองนี้ยังแตกแขนงเป็นแนวคิดเรื่องบทบาท (ROLE THEORY) ซึ่งอธิบายว่าสมาชิกในองค์กรต่างมีแนวคิด(ตามการเรียนรู้ทางสังคมของเขา) ว่าบทบาทผู้นำควรจะเป็นอย่างไร และส่งสัญญาณนี้ให้ผู้นำรับทราบ ผู้นำจะได้รับอิทธิพลจากสัญญาณนี้ โดยเฉพาะถ้าเขามีความรู้สึกไวต่อผู้คนที่อยู่รอบข้าง และพยายามที่จะแสดงบทบาทผู้นำตามที่สมาชิกในองค์กรคาดหมาย
      
        พฤติกรรม/คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ
      
        ผู้เขียนได้สรุปจากหนังสือที่ศึกษาเรื่องผู้นำหลายเล่มว่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมักจะมีพฤติกรรมหรือคุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ
      
        1. ฉลาดทางปัญญา (IQ) ฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และฉลาดทางด้านสังคมและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม (SQ)
      
       2. การทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี, ให้คำแนะนำ สอน ช่วยเหลือคนอื่น, จริงใจ, เป็นที่ไว้วางใจ, สื่อสารเข้ากับคนได้ดี, ให้แรงบันดาลใจ ให้ความหวังต่อคนอื่น
      
       3. ศรัทธาในความดี, มีความรัก, เมตตากรุณา, ใจกว้าง มีวุฒิภาวะ มองเห็นว่าคนมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน คิดถึงคนอื่น/ส่วนรวม มากกว่าติดยึดกับอัตตาตัวเอง
      
       4. เป็นคนที่มีหลักคิด, ค่านิยมที่เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าทำ, ริเริ่ม, มองโลกในแง่ดีอย่างสมจริง มองไปข้างหน้า, เตรียมพร้อม, วางแผนเผื่อไว้
      
       5. มีจริยธรรม เที่ยงธรรม, สม่ำเสมอ มีวินัยในตัวเอง, ควบคุมตัวเองได้ดี มีเหตุผล, ระมัดระวัง รอบคอบ พิถีพิถัน
      
       6. ถ่อมตัว, รับฟังอย่างเปิดใจกว้าง, วิเคราะห์(จุดแข็งและจุดอ่อน)ตัวเองได้ รับผิดชอบ ยอมรับความผิดพลาด รู้จักให้อภัย พร้อมที่จะเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ
      
       7. รู้จักวิเคราะห์คนและสถานะการณ์, รู้จักเลือกใช้คน รู้จักการจัดตั้งและพัฒนาองค์กร, กระจายอำนาจให้และยกย่องคนอื่น, ใช้วิธีการที่เหมาะสม, คิดล่วงหน้า ปรับตัวได้อย่างคล่องตัวยืดหยุ่นตามสถานะการณ์ที่เปลี่ยนไป
      
       8. ภูมิใจ/มั่นใจในตนเอง, มีความเชื่อมั่นที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด(CONVICTION) มีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์(VISION) เกี่ยวกับอนาคตขององค์กร ชุมชน ประเทศ
      
       9. ผูกพัน(COMITMENT) มีความตั้งใจสูง ขยันมุ่งมั่น, อดทน ฮึด, อึด, สู้ แม้ในสถานะการณ์ที่เลวร้าย
      
        (หนังสือใหม่เกี่ยวกับผู้นำ วิทยากร เชียงกูล หลักคิด/คำคมว่าด้วยผู้นำ/ภาวะการนำ สายธาร 2553)
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9530000045382

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น