Talent People : คนที่มีความพิเศษ
ความสลับซับซ้อนและความกำกวมของธุรกิจในปัจจุบันมีสูงมาก จนกระทั่งการบริหารหรือการจัดการไม่ง่ายเหมือนเดิม ทำให้ธุรกิจต้องแสวงหาแนวคิดใหม่และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการ "คนที่มีความพิเศษ" หรือ "Talent People"
ภูมิทัศน์ของการแข่งขันใหม่
โลกของธุรกิจเป็นเรื่องราวของการบริหารด้านคนใช่หรือไม่ ถ้าอ้างคำพูดของ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ก็ตอบว่าใช่ แต่ดรักเกอร์บอกว่า “ไม่ใช่บริหารงานบุคคลหรือพนักงาน แต่เป็นการบริหารคน (People Management)"
ดังนั้นการบริหารคนหรือ People Management จึงก้าวไปไกลกว่าวิชาที่เรียนรู้กันในเรื่อง การบริหารทรัพยากรบุคคลหรือฝ่าย HR ที่พูดถึงกันอยู่ในปัจจุบัน
ทำไมจึงมีการเปลี่ยนแปลงแปลงได้อย่างมากมายอย่างใหญ่หลวงปานนี้ สิ่งที่เป็นภูมิทัศน์ของการแข่งขันใหม่จะมีอย่างน้อยอยู่ 5 ประการด้วยกันในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย
หนึ่ง : พลวัตระดับโลก (Global Dynamics) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านมาตรฐาน (Standards) ลูกค้า (Customers) และปัญญา (Intelligence) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
สอง : การลดกฎระเบียบ (Deregulation) โลกของศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของการค้าเสรี หรือระดับของความเสรีใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับทุกๆ คนที่มีทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม
สาม : เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economics) เทคโนโลยีด้านดิจิทัลได้ก้าวเข้ามาทดแทนทุกๆ สิ่ง ทำให้เกิดการตายของเวลา สถานที่และวิธีการ หมายความว่า อะไรที่ไม่เคยเป็นไปได้ในโลกธุรกิจกายภาพ จะเป็นไปได้หมดในโลกดิจิทัล
สี่ : วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต (Internet Evolution) ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือผลักทางเศรษฐกิจ หรือ “มือที่มองไม่เห็น” ตามแนวคิดของ อดัม สมิธ ที่จะทำให้กลไกตลาด เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรทรัพยากร สมดุลของผลประโยชน์
มีคนกล่าวว่า โลกของ Desktop เป็นโลกของไมโครซอฟท์
แต่โลกของ Web based เป็นโลกของกูเกิ้ล
ห้า:การรวมเข้ามา (Convergence) จะเป็นสิ่งใหม่ของการเชื่อมโยง และรูปแบบที่เกิดขึ้นภายใต้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันใหม่
ดังนั้นพลวัตใหม่จึงเป็นความกำกวม ความสลับซับซ้อน และความรุนแรง ทั้งด้านอุตสาหกรรม ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ความร่วมมือ ผลิตภัณฑ์ โซ่คุณค่า และการแข่งขัน และความท้าทาย คือ กฎใหม่ เกมใหม่ โดยที่ธุรกิจจะปรับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ให้เกิดเป็นความได้เปรียบกับธุรกิจได้อย่างไร
สินทรัพย์ทางปัญญา เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในความท้าทายดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ให้ธุรกิจ หรือใช้สิ่งที่เรียกว่า “สินทรัพย์ทางปัญญา” (Intellectual Assets) เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจใหม่ แบบสร้างมูลค่าหรือเศรษฐกิจดิจิทัล
การที่ธุรกิจในเมืองไทยสนใจเรื่อง การจัดการความสามารถ การจัดทำเรื่อง KM หรือการจัดการความรู้ หรือเริ่มพูดเรื่อง Talent People : คนที่มีความพิเศษ ผู้เขียนเห็นว่ากำลังเริ่มเข้าสู่เส้นทางที่จะนำไปสู่เรื่องของการจัดการสินทรัพย์ทางปัญญา (IAM: Intellectual Assets Management)
ทั้งนี้ก็เพราะการจัดการสินทรัพย์ทางปัญญา หรือการจัดการทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Management) จะเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่คนที่มีความพิเศษ (Talent People) สร้างความรู้ออกมาให้กลายเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา และเมื่อใดที่นำไปสู่การค้าขายเชิงพาณิชย์และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย จึงจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)
ธุรกิจนับจากนี้ไปจะเป็นเรื่องราวของการจัดการคนที่มีความพิเศษ (Talent People Management) ที่จะทำให้มีทุนทางปัญญาเกิดขึ้นมากๆ การบริหารงานบุคคลหรือการบริหาร HR เป็นเวอร์ชั่นเก่าที่ต้อง Up Grade หรือไม่ก็อาจจะเลิกใช้ไปเลย (ในความเป็นจริงถอยไปเป็นพื้นฐาน (Ground Rules)
การจัดการคนที่มีความพิเศษ (Talent People Management )
การจัดการคนพิเศษต้องพิจารณาคนที่มีความพิเศษให้เปรียบเสมือนลูกค้า โดยในขั้นตอนแรกต้องวิเคราะห์หาคนที่มีความพิเศษในองค์กรก่อน ซึ่งคงไม่ใช้เครื่องมือที่ธุรกิจรู้จักและมีอยู่ดาษดื่น เช่น การทดสอบ สัมภาษณ์ รายการประเมิน
ขั้นต่อมา ต้องดึงดูดคนที่มีความพิเศษ โดยปรับวิธีการของการบริหารคนแบบเดิมๆ ใหม่ทั้งหมด
ขั้นตอนสุดท้าย 2 ขั้นตอน คือ การรักษาและบริหารคนที่มีความพิเศษ โดยดูแลเหมือนลูกค้าหรือรักษาไว้เหมือนซัพพลายเออร์
สิ่งที่เป็นผลลัพธ์ที่ต้องการจากคนที่มีความพิเศษคือ “สินทรัพย์ทางปัญญา” ซึ่งไม่ใช่ความรู้ การแบ่งปันความรู้ หรือผลิตภาพ แต่ต้องมากกว่านั้น
ถ้าใช้ KM อย่างถูกวิธี สินทรัพย์ทางปัญญาจะกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจและประเทศชาติ
อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น