Leadership # 33
มาจุดประกายความคิดเรื่อง
“การกระจายภาวะผู้นำ (Distributed Leadership)” กันเถอะ
รศ.
สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์
23 มีนาคม
2550
ในยุคปัจจุบัน นักวิจัยและผู้รับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายทางการศึกษา
ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า
แนวคิดเดิมที่เชื่อว่า ผู้นำองค์กรต้องเป็นผู้ที่เก่งกล้าสามารถโดดเด่นเหนือคนอื่นอยู่คนเดียวหรือที่เรียกกันว่า
Heroic
leader นั้น กลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย
ทำให้ภารกิจที่ต้องบริหารจัดการและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้เหมาะสมกับยุคนี้เต็มไปด้วยความสลับซับเพิ่มเป็นทวีคูณตามไปด้วย
จนเกินกำลังความสามารถของผู้นำเพียงคนเดียวที่จะรับมือได้
ดังนั้นจึงมีความเชื่อค่อนข้างกว้างขวางว่า ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมี การกระจายภาวะผู้นำ
(Distributed
Leadership) จากอาจารย์ใหญ่ที่เป็นผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวให้กระจายภาวะผู้นำไปยังผู้รับผิดชอบระดับรองๆ
ตลอดถึงครูทุกคนของโรงเรียน
เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้มีโอกาสใช้ศักยภาพและความเป็นผู้นำของตนร่วมกันขับเคลื่อนโรงเรียนไปสู่ความสำเร็จได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการสร้างพลังเพิ่มพิเศษ หรือ Synergy ให้แก่โรงเรียนโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในหลักการและความหมายของคำว่า การกระจายภาวะผู้นำ
หรือ Distributed Leadership ในทัศนะบุคคลต่างๆยังค่อนข้างหลากหลาย
ขาดความชัดเจน ตลอดจนยังเป็นเรื่องใหม่ที่มีผลงานวิจัยอยู่ในวงจำกัด
และมักเป็นคำอธิบายกว้างๆ เช่น
James
Spillane (2006). กล่าวว่า
การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership มีความหมายกว้างกว่าคำว่า
ภาวะผู้นำร่วม (Shared Leadership) แต่เป็นวิวัฒนาการของแนวคิดที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ
ซึ่งเปลี่ยนไปจากการให้ความสำคัญต่อผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ไปสู่ภาวะผู้นำที่กระจายไปยังบุคคลอื่นทั่วทั้งองค์การ
ในลักษณะที่มีความสัมพันธ์ต่อกันแบบโครงข่ายใยแมงมุมของภาวะผู้นำ (Web
of Leadership)
Riley (2000). ให้ทัศนะว่า
การกระจายภาวะผู้นำ หรือ Distributed Leadership เป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์
(Network
of relation) ระหว่าง คน
โครงสร้าง และวัฒนธรรม
มากกว่าที่จะเป็นภาวะผู้นำของบุคคลเดียวที่เป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน
Fullan
(2001). เชื่อว่า
ผู้นำที่ดีต้องสร้างผู้นำที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับขององค์การ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำสถานศึกษา
ที่จะต้องเตรียมผู้นำรุ่นต่อไป (Next generation) ไว้รองรับความต้องการของโรงเรียนในอนาคต
โดยแนวคิดการกระจายภาวะผู้นำ
น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในกระบวนการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้แก่สถานศึกษา
Raelin
(2004). กล่าวว่า การกระจายภาวะผู้นำ
หมายถึงสถานะการณ์หรือบริบทขององค์การที่มีผู้นำหลายคน (Multiple
leaders) ที่ต่างหมุนเวียนเข้ามารับบทบาทความเป็นผู้นำ
ในส่วนงานที่ตนถนัดหรือมีความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแนวคิดเหมาะสมกับการทำงานเป็นทีมแบบ ทีมงานที่บริหารจัดการเบ็ดเสร็จในตนเอง
หรือ Self-Managed Team, (SMT).
Wheatley, (1999:24). ให้ทัศนะว่า แนวคิดที่ดีที่สุดเมื่อพูดถึงภาวะผู้นำ
ก็คือควรมองในแง่พฤติกรรม (Behavior) มากกว่าด้านบทบาท
(Role)หรือตำแหน่ง
(Position)ของบุคคลที่ลดหลั่นตามลำดับในโครงสร้างแบบเก่าขององค์การ และไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่คาดหวังว่าต้องแสดงภาวะผู้นำได้ดีในทุกสถานการณ์
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ภาวะผู้นำมิใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งองค์การ โดย Morrison (2001a) กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายของภาวะผู้นำดังกล่าว
ทำให้บางครั้งบทบาทของผู้นำอาจทับซ้อนกัน หรืออาจเสริมต่อกัน
และสามารถเลื่อนไหลจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งได้ตลอดเวลา
ดังนั้น ภายใต้ความเชื่อที่หลากหลายดังกล่าว
ทำให้เกิดรูปแบบของการเป็นผู้นำที่กระจายภาวะผู้นำออกมาหลายรูปแบบ เช่น ถ้าตีความอย่างแบบง่ายๆ ก็จะพบพฤติกรรมการกระจายภาวะผู้นำของอาจารย์ใหญ่
ที่มีการมอบหมายงานที่เป็นภาระรับผิดชอบโดยตรงบางด้านของตนให้แก่ครูหรือบุคลากรคนอื่นของโรงเรียน กล่าวคือ
อาจารย์ใหญ่อาจมอบงานด้านธุรการให้ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่รับผิดชอบแทน ดังจะพบเห็นได้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณงานและโครงสร้างซับซ้อน
มักมีการแต่งตั้ง “อาจารย์ใหญ่ย่อยๆ (Sub-principals)” ขึ้นเป็นผู้นำรับผิดชอบในแต่ละช่วงชั้นการศึกษาของโรงเรียน
หรืออาจารย์ใหญ่อาจมอบหมายงานด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้บุคคลต่างๆหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามารับผิดชอบ
เป็นต้น
จากความเชื่อที่ว่า
ใครก็ตามล้วนมีภาวะผู้นำอยู่แล้วในตัวเองและสามารถที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำของตนได้มากยิ่งขึ้นถ้าได้รับโอกาสที่เอื้ออำนวย ด้วยเหตุนี้แนวคิดเรื่อง การกระจายภาวะผู้นำ
หรือ
Distributed Leadership จึงมักนำมาใช้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน
โดยผู้นำสถานศึกษามักจะใช้วิธีการกระจายงานและกระจายภาวะผู้นำออกไปยังบุคคลที่ตนไว้วางใจและเชื่อในความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆให้รับผิดชอบแทนตน
จึงเกิดมีผู้นำต่างๆเกิดขึ้นตามมา เช่น ผู้นำวางแผนและพัฒนาหลักสูตร
ผู้นำบริหารงานธุระการทั่วไป ผู้นำจัดตารางสอนตารางเรียน ผู้นำด้านพัฒนาวิธีสอน
ผู้นำด้านการจัดทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้
ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT ผู้นำด้านชุมชนสัมพันธ์
ผู้นำเฉพาะแต่ละกลุ่มสาระวิชา
และผู้นำด้านการวัดและประเมินผลการเรียน เป็นต้น
โดยผู้นำย่อยเหล่านี้
จะสร้างทีมงานแบบ Self-Managed Teamsของตนขึ้นมารองรับ
ส่วนผู้นำสถานศึกษาก็จะทำหน้าที่ประสานงานเชื่อมโยงทีมงานเหล่านี้เข้าด้วยกันอีกทอดหนึ่ง
แม้ว่า หลักการของการกระจายภาวะผู้นำ จะปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่เกี่ยวกับองค์การโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นนิยามของคำว่า
ภาวะผู้นำที่ถือว่า เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของครูทุกคนในโรงเรียนก็ตามแต่มิได้หมายความว่าเป็นการลดความสำคัญของบทบาทผู้นำสถานศึกษาหรืออาจารย์ใหญ่แต่ประการใด
เป็นแต่เพียงปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว
ผู้นำสถานศึกษาจะไม่ใช่เป็น “ผู้ทำงานหลัก หรือ Chief doer” อีกต่อไป
หากแต่ทำหน้าที่เป็น “สถาปนิกด้านภาวะผู้นำขององค์การ
(Architect of organizational
leadership)” โดยอยู่ในฐานะเป็น “ผู้นำของบรรดาผู้นำ หรือ
Leader of Leaders” ของโรงเรียนอีกต่อหนึ่ง
ที่มีหน้าที่หลักคือ การประสานงานและช่วยทักทอให้ทีมงานของบรรดาผู้นำย่อยเหล่านั้นให้เข้ามาเชื่อมโยงกันแบบโครงสร้างใยแมงมุม
(Web structure) ให้ทำงานที่ประสานและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างลงตัว
ผู้นำสถานศึกษาจึงต้องมีบทบาทเสมือนผู้นำการแสดง
ของวงดนตรีขนาดใหญ่ซึ่งต้องแสดงพฤติกรรมที่เรียกว่า Concertive Action เพื่อให้ผู้เล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพรียงตามบทบาทและสถานการณ์ที่แต่ละคนรับผิดชอบ
ส่วนอีกบทบาทหนึ่งของผู้นำสถานศึกษา ก็คือ ควรใช้อำนาจโดยตำแหน่ง (Position power)เท่าที่จำเป็น
แต่ควรปรับเปลี่ยนและใช้อำนาจดังกล่าวไปเพื่อการเป็น “ผู้เอื้ออำนวย
(Facilitator)” ให้การปฏิบัติภารกิจของทีมงานของผู้นำย่อยต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุผลดีทั้งงานภาพย่อยและภาพรวมของโรงเรียน
รวมทั้งการมีบทบาทเป็น ผู้ฝึกสอนแนะนำ (Coach) เป็น ครูสอนงาน
(Teacher) และเป็น พี่เลี้ยง (Mentor) ที่คอยช่วยเหลือแนะนำการทำงานและพัฒนาความเป็นผู้นำให้แก่ทีมงานตลอดจนผู้นำในทุกระดับทั่วทั้งโรงเรียน
จากการสังเคราะห์เอกสารและงานวิจัยจำนวนมากของนักวิชาการที่กล่าวถึงการกระจายภาวะผู้นำหรือDistributed
Leadership พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจควรแก่การพิจารณาต่อไปหลายประการ
ได้แก่
1. การกระจายภาวะผู้นำ
(Distributed
Leadership)
มีความหมายมากกว่าการมอบหมายงานให้ปฏิบัติแทน (Delegating) แต่เป็นวิธีการที่เชื่อว่าน่าจะดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยปลดปล่อย
(Release) ศักยภาพ (Potential) ความเชี่ยวชาญ (Expertise)
ความคิด (Idea) และความเพียรพยาม (Effort)
ในการทำงานของทุกคนที่เกี่ยวข้องให้เกิดประโยช์สูงสุดต่อองค์การ
2. การกระจายภาวะผู้นำ สามารถใช้ได้ดีกับสถานการณ์ที่องค์การต้องเผชิญกับปัญหา
(Problems) ภาวะภัยคุกคาม
(Threats)
และภาวะการเปลี่ยนแปลง (Change) ทั้งนี้เพราะแนวปฏิบัติดังกล่าว ก่อให้เกิดการคิดร่วมกัน
จึงมักได้ข้อยุติที่เป็นความคิดดีๆร่วมกันของทีมงาน
ซึ่งสมาชิกพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวเป็นความจริงขึ้นมา
3.
ในสภาพแวดล้อมที่มี “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า การกระทำที่ผิดพลาด (Mistake) มักนำไปสู่การค้นพบวิธีการใหม่ๆที่มีคุณค่าตามมาเสมอ
4. การกระจายภาวะผู้นำ มิได้หมายความว่าทุกคนต้องเป็นผู้ตัดสินใจ
แต่ถือว่าแต่ละคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตน
ที่สามารถระดมลงสู่การแก้ปัญหาและนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจสุดท้ายได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น
5. การกระจายภาวะผู้นำ
เป็นวิธีการที่ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้นำจากการมีพฤติกรรมแบบ
“ข้าเก่งคนเดียว” ไปให้ความสำคัญต่อการทำงานแบบทีมงานมากขึ้น
ซึ่งสมาชิกมีโอกาสได้แสดงภาวะผู้นำและยังเป็นการสร้างพลังเพิ่มพิเศษ (Synergy)
ให้แก่องค์การอีกด้วย
6. การกระจายภาวะผู้นำ เป็นแนวทางที่มุ่งเน้นเรื่อง ความร่วมมือ (Cooperation) และสร้างความไว้วางใจ (Trust)ต่อกัน แทนที่แนวคิดเก่าที่มุ่งการแข่งขัน (Competition)
เอาชนะกันระหว่างหน่วยงานย่อยๆในองค์การจนบ่อยครั้งเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม
7. การกระจายภาวะผู้นำ
เป็นการมอบอำนาจความรับผิดชอบตัดสินใจ (Empowered)
ให้กับทุกคน
เพื่อให้คนเหล่านั้นปฏิบัติงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency)
ทำงานอย่างมีความหมาย (Meaning)และเกิดประสิทธิผล
(Effectiveness)
8. ภายใต้บรรยากาศของ “การกระจายภาวะผู้นำ” ถือว่าผู้ปฏิบัติงานทุกคน
มีความหมายและมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ
เพราะต้องร่วมกันทำงานแบบทีมกับผู้อื่นและได้ร่วมใช้ภาวะผู้นำในกระบวนการทำงานนั้น
9.
องค์การที่ยึดแนวทาง “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า
ผู้นำสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งและทุกสถานการณ์ทั่วทั้งองค์การ
ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ภาวะผู้นำของบุคคลเกิดจากพฤติกรรมของการปฏิบัติงานรับผิดชอบอย่างมีคุณภาพ
(Quality
of practice) เป็นสำคัญ มิได้มาจากการที่ใครมีตำแหน่งสูงกว่า (Organizational position)
หรือมีอำนาจเหนือกว่าใครแต่ประการใด
10. ในองค์การที่ยึดแนวทาง “การกระจายภาวะผู้นำ” เชื่อว่า
ภาวะผู้นำของแต่ละบุคคลไม่ได้เป็นความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในลักษณะตามสายบังคับบัญชาที่ลดหลั่น
(Hierarchical
relations)ของแนวคิดองค์การแบบเดิม
จึงไม่ยึดหลักการใช้อำนาจเพื่อการบังคับสั่งการ (Power imposing) แต่เป็นความสัมพันธ์เชิง
“การแบ่งปันอำนาจ หรือ การใช้อำนาจร่วมกัน”
เป็นสำคัญ โดยความเป็นผู้นำของบุคคลสามารถสับเปลี่ยนหมุนเวียนจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งไปตามแต่ละตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
11. สถานศึกษา
น่าจะเป็นองค์การในอุดมคติที่เหมาะต่อการประยุกต์ใช้แนวคิด “การกระจายภาวะผู้นำ”
ทั้งนี้เพราะเป็นองค์กรที่สมาชิกทุกคนต้องใช้ความรู้และสร้างความรู้ (Knowledge)ในกระบวนการประกอบวิชาชีพของตน
โดยที่ครูซึ่งเป็นสมาชิกองค์การมีหลักปฏิบัติต่อกันด้วยวัฒนธรรมทางวิชาการ หรือ Collegial
culture และครูแต่ละคนมักให้ความเคารพนับถือในการปฏิบัติวิชาชีพของคนอื่นในฐานะของการเป็นผู้นำ
อีกทั้งครูต้องใช้ภาวะผู้นำของตนในระหว่างการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนอยู่แล้วอีกด้วย
12. ในองค์การแห่งการเรียนรู้
(หรือโรงเรียนแห่งการเรียนรู้) จำเป็นต้องกระจายทั้งภาวะผู้นำและความรู้
(Distributed leadership and
knowledge) ดังนั้น
องค์การแห่งการเรียนรู้ จะต้องควบคู่ไปกับการมีการกระจายภาวะผู้นำ เสมอ (Lakomski,
2000)
13. นักวิชาการบางคนให้ทัศนะว่า
การกระจายภาวะผู้นำ จะเป็นรูปแบบภาวะผู้นำแห่งอนาคต
(Distributed Leadership is the
leadership model of the future.)
จากประเด็นต่างๆที่บ่งบอกถึงแนวคิด
“การกระจายภาวะผู้นำ”
ที่กล่าวมานี้
จะเห็นว่าเป็นแนวคิดที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลายทฤษฎีและแนวคิดด้านภาวะผู้นำที่นิยมใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน
เช่น
Shared Leadership, Facilitative
Leadership, Empowerment Leadership, Democratic Leadership, Delegated
Leadership, และ Dispersed
Leadership
เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่มีแนวคิดและค่านิยมร่วมกัน อันได้แก่เรื่อง
การให้มีส่วนร่วมของสมาชิก การมอบอำนาจความรับผิดชอบในการตัดสินใจ การกระจายงานให้ปฏิบัติแทน
การเอื้ออำนวยความสะดวก การนำด้วยแนวทางแบบประชาธิปไตย
การให้คุณค่าและการนับถือในความสามารถของผู้อื่น เป็นต้น
ซึ่งเป็นแนวคิดและเป็นหลักการสำคัญยิ่งที่น่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ แม้ว่าเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ
หรือ Distributed Leadership” ยังเป็นเรื่องใหม่และยังขาดความชัดเจนถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีภาวะผู้นำหนึ่งก็ตาม
แต่แนวคิด หลักการ ความเชื่อและค่านิยมของเรื่อง “การกระจายภาวะผู้นำ”
นับได้ว่าเป็นกระแสหลักด้านภาวะผู้นำมีคุณค่าเหมาะสมกับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ที่ต้องการพลวัตของภาวะผู้นำเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนงานและองค์การ
โดยเฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ท่ามกลางบริบทอันซับซ้อนของสังคมขณะนี้ ให้สู่ความสำเร็จตามเจตจำนงของการปฏิรูปการศึกษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Spillane,J.P.: Richard
Halverson; and John B.Diamond. “Investigating School Leadership
Practice: A Distributed Perspective.” Educational
Research 30:3(April 2001):23-28
Elmore,R.F. Building a New
Structure for School Leadership. Washington,D.C.: The Albert
Shanker Institute, 2000.
Copland, Michael Aaron. “The
Bay Area School Reform Collaborative: Building the
Capacity to Lead.” In
Leadership Lessons from Comprehensive School Reforms,
Thousand Oaks, California: Corwin Press, 2003.
The Education Alliance. The
Bridgeport Story: What Urban School Districts Need to Know
About School Leadership Teams. Providence,
Rhode Island: The Education Alliance,
June 2002.
Chirichello, Michael. “Co-Principals:
A Double Dose of Leadership.” Principal 82:4
(March/April 2003): 40-43.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น