วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


Leadership # 24
 


รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


(Social Change Model of Leadership)


รศ.สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์


http://suthep.ricr.ac.th


23 เมษายน 2549



ผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ ผู้นำเป็นผู้ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น ของชุมชนและของสังคมโดยรวม โดยนิยามหลังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำได้


กระบวนการของการเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำนั้น ไม่สามารถอธิบายได้โดยง่ายเพียงแค่ดูจากพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ภาวะผู้นำยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในแง่ความร่วมมือของกลุ่มคนหรือระหว่างกลุ่มคนในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน บนฐานของค่านิยมเหมือนกัน คือ การทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขึ้นแก่สังคม


จากฐานความเชื่อที่ว่า ผู้นำคือผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change agent) และภาวะผู้นำคือ การทำงานร่วมกันในลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น ดังนั้นโครงการพัฒนาผู้นำใด ๆ ที่มีฐานความเชื่อดังกล่าว จึงเน้นเรื่องค่านิยม (Values) สำคัญที่ใช้เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมควบคู่ไปกับการเรียนรู้ค่านิยมส่วนบุคคลเพื่อการเป็นผู้นำที่ดีต่อไป


ด้วยเหตุนี้ แนวคิดหรือหลักการสำคัญของ “รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Model of Leadership หรือ SCML) นี้ จึงมีความเชื่อว่า


· ภาวะผู้นำเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้อื่นและสังคม


· ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องของความร่วมมือร่วมใจกัน (Collaborative) เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย


· ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการ (Process) มากกว่าเป็นเรื่องของตำแหน่ง (Position)


· ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องที่ยึดเอาค่านิยมเป็นฐาน (Value-based)


· นักศึกษา (ประชาชน) ทุกคน แม้จะไม่มีตำแหน่งใด ๆ ก็มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำได้


· การฝึกการให้บริการ (Serve) แก่ผู้อื่น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


เนื่องจากปัญหาทางสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว ต่อเนื่องทุกวัน นักวิชาการด้านภาวะผู้นำต่างเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือพัฒนาผู้นำสมัยใหม่ให้มีคุณลักษณะภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นรับมือกับปัญหาดังกล่าวและยอมรับว่า ผลงานวิจัยทดลองของคณะนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส (UCLA) ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 เรื่อยมา คือ โครงการพัฒนา “รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Model of Leadership หรือ SCML)” นั้น“ถือได้ว่า เป็นรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การหลอมรวมแนวคิดในการพัฒนาภาวะผู้นำเข้าไปอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เน้นส่งผลกระทบที่ดีงามต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวม


รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือ SCML ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์สำคัญอยู่ 2 ประการได้แก่


1. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาภาวะผู้นำของนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนานักศึกษาให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับตนเองและศักยภาพที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำที่ดีในประเด็นต่อไปนี้


· ด้านความรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self-knowledge) เช่น รู้ระดับปรีชาสามารถ (Talents) ของตน เข้าใจค่านิยมสำคัญ (Values) และความสนใจ (Interests) ที่ตนมี และพัฒนาให้เป็นศักยภาพที่สำคัญและเหมาะสมต่อการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล เป็นต้น


· ด้านสมรรถนะภาวะผู้นำ (Leadership competencies) ได้แก่ ศักยภาพในการขับเคลื่อนตนเองและผู้อื่นในการทำงานและให้บริการเพื่อส่วนรวมร่วมกัน


2. เพื่อสร้างสรรค์และช่วยเอื้ออำนวย (Facilitate) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคมขึ้น ทั้งระดับหน่วยงานและระดับชุมชน โดยร่วมลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การดำเนินงานของหน่วยงานหรือชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและอย่างมีมนุษยธรรม


ด้วยเหตุที่รูปแบบ SCML ดังกล่าวเกี่ยวข้องประเด็นที่เป็นค่านิยมสำคัญคือ การพัฒนาทักษะด้านความร่วมมือร่วมใจ (Collaborative) ให้แก่ผู้เรียนเพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขึ้นในสังคม ดังนั้นนักศึกษาแต่ละคนจะต้องเข้ารับการเรียนรู้ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและการทำงานภาคสนามเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 ระดับได้แก่ ระดับตนเอง (Individual) ระดับกลุ่ม (Group) และระดับชุมชน/สังคม โดยใช้ค่านิยมที่สำคัญ 7 ประการที่ย่อด้วยอักษร C (The 7 C‘s model) ได้แก่


ระดับบุคคล ประกอบด้วยค่านิยม 3 ประการคือ 1) Consciousness of Self หรือ ความเข้าใจในตนเอง 2) Congruence หรือ การกระทำที่สอดคล้องทุกด้านภายในตน และ 3) Commitment หรือ ความยึดมั่นผูกพัน


ระดับกลุ่ม ประกอบด้วยค่านิยมเพิ่มอีก 3 ประการได้แก่ 4) Collaboration หรือความร่วมมือร่วมใจ 5) Common Purpose หรือ การมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และ 6) Controversy with Civility หรือ สามารถขัดแย้งกันได้แต่ต้องสุภาพ


ระดับชุมชน/สังคม ประกอบด้วย 1 ค่านิยมคือ Citizenship หรือ ความสำนึกในการเป็นสมาชิกหรือพลเมืองที่ดี และสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลง หรือ Change ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่เกิดขึ้นจากความสำเร็จของการดำเนินการของค่านิยมทั้งเจ็ดประการ (The 7 C’s model) ดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงหรือ Change ก็คือ เป้าหมายสูงสุดที่เป็นผลรวมที่ได้มาจากกระบวนการสร้างภาวะผู้นำดังกล่าว เพื่อทำให้โลกหรือสังคมน่าอยู่ดีงามต่อเราเองและผู้อื่น


ความสัมพันธ์ระหว่างค่านิยมทั้งเจ็ด ตามระดับทั้งสาม มีดังภาพต่อไปนี้




จากค่านิยมทั้ง 7 ประการ นำไปสร้างเป็นกิจกรรมประกอบการเรียนรู้/ฝึกอบรมซึ่งมีหลักควรพิจารณาดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

ภาวะผู้นำระดับบุคคล


(Individual)


ภาวะผู้นำระดับกลุ่ม


(Group)


ภาวะผู้นำระดับชุมชน


(Community)



- เราต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาตนเองให้เกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในเรื่องใดบ้าง


- จะสร้างภาวะผู้นำการทำงานกลุ่มแบบร่วมมือร่วมใจ (Collaborative leadership) ได้อย่างไร โดยกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่พัฒนาคุณลักษณะเฉพาะบุคคล แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมอีกด้วย


- กิจกรรมการพัฒนาภาวะผู้นำไปสู่จุดหมายปลายทางใดของสังคม


- มีกิจกรรมชนิดใดบ้างที่มีประสิทธิผลสูงสุดที่เป็นการเสริมแรงและสร้างพลังให้กับกลุ่มพร้อมไปกับการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ส่วนบุคคลของผู้เรียนในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สำหรับค่านิยม 7 ประการ (The 7 C’s) สามารถขยายความได้ดังตารางที่ 2 ต่อไป






ตารางที่ 2 : ค่านิยมตาม The Seven C’s แยกตามระดับ




7 C’s values


ระดับ


ค่านิยมหลัก (จาก 7 C’s)


Core Values


ขยายความ



ระดับบุคคล


Individual


* Consciousness of Self


ความเข้าใจในตนเอง


- รู้จักตนเองเกี่ยวกับ ความเชื่อ (beliefs) ค่านิยม (values) เจตคติ (attitudes) มุมมองต่อโลก (perspectives) และอารมณ์(Emotion) โดยปัจจัยเหล่านี้จูงใจให้ตนเองกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไป

* Congruence


ความสอดคล้องด้านต่าง ๆ ภายในตนอย่างคงเส้นคงวา


- การคิด (thinking) การแสดงความรู้สึก (feeling) และการกระทำ(action)ที่แสดงออกมีความสอดคล้องกันและคงเส้นคงวา คือพูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่เสแสร้ง (genuineness) มีความน่าเชื่อถือ (authenticity) และมีความซื่อสัตย์ (honesty) ต่อผู้อื่น

* Commitment


ยึดมั่นผูกพันต่อความเชื่อและทำตามความเชื่อของตน


- มีความเชื่อและศรัทธาที่จะทำหน้าที่ให้บริการ (serve) และพยายามผลักดันให้เกิดการใช้พลังกลุ่มมากขึ้น


- การยึดมั่นผูกพัน แสดงออกให้เห็นด้วยอารมณ์ ความเอาจริงเอาจังและมีความอดทนยาวนาน


- ผู้ที่ขาดความเข้าใจในตนเองที่ถูกต้อง จะเกิดการยึดมั่นผูกพันแบบหลงผิดได้



ระดับกลุ่ม


Group


* Collaboration


การร่วมมือร่วมใจกัน


- แต่ละคนทำสิ่งที่ตนรับผิดชอบอย่างดีที่สุดเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับกลุ่ม


- เป็นองค์ประกอบที่เสมือนเสาหลักในการสร้างภาวะผู้นำกลุ่ม ทั้งนี้เพราะแต่ละคนและทุกคนในกลุ่มต่างยอมรับและไว้วางใจ (trust) ต่อกัน







* Common Purpose : มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน


- ทุกคนในกลุ่มรู้สึกเหมือนอยู่ในเรือลำเดียวกันที่มีเข็มมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน


- การทำงานที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ย่อมทำให้ทุกคนในกลุ่มหันมาร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่เผชิญหน้าร่วมกัน พร้อมทั้งช่วยกันหาแนวทางที่จะทำให้ภารกิจกลุ่มบรรลุเป้าหมาย







* Controversy with Civility :


ขัดแย้งกันได้แต่ต้องสุภาพ


- เมื่อมีความขัดแย้งในกลุ่มเกิดขึ้น ทุกคนจะร่วมกันคลี่คลายบนพื้นฐานการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน


- ยอมรับความจริงพื้นฐาน 2 ประการที่กลุ่มทำงานที่มีความสร้างสรรค์ต้องเผชิญเสมอได้แก่ ประการแรก การแตกต่างเชิงความคิดเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้และประการที่สอง ความแตกต่างทางความคิดดังกล่าวจะต้องยกขึ้นมาหารือกันอย่างเปิดเผย โดยยึดหลักปฏิบัติอย่างสุภาพต่อกัน



ระดับชุมชน/สังคม


Community/Society


* Citizenship


ความเป็นพลเมืองดี


- สมาชิกทั้งรายบุคคลและกลุ่มต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างสิ่งที่ดีงามแก่ชุมชนและต่อสังคมโดยรวมให้ได้







สรุปท้ายบท


โครงการพัฒนารูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Model of Leadership หรือ SCML) สรุปได้ดังนี้


1. เริ่มด้วยแนวคิดในการสร้างผู้นำสมัยใหม่ ที่มีความสามารถในการสร้างหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก ที่มีผลกระทบด้านดีงามต่อชุมชนและสังคมโดยรวม


2. โครงการ SCML ได้เริ่มพัฒนาขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1994 ณ University of California at Los Angeles สหรัฐ ด้วยทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้นำ Dwight D. Einsenhower และกระทรวงศึกษาของสหรัฐโดยประกอบด้วยทีมงานวิจัยที่เป็นนักวิชาการด้านภาวะผู้นำชื่อดังจากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อเสาะแสวงหาแนวทางและรูปแบบในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ดังกล่าว


3. รูปแบบ SCML นี้มีจุดเน้นที่สำคัญคือ การมองภาวะผู้นำในลักษณะของกระบวนการ (Process) ที่มีการกระทำแบบร่วมมือของกลุ่มและใช้อำนาจร่วมของกลุ่มเป็นหลักในการทำงาน แทนที่แนวคิดเก่าที่ยึดภาวะผู้นำอยู่ที่ตัวบุคคลโดยตำแหน่ง (Position) และใช้อำนาจ (Authority) ในการควบคุมสั่งการ (Command and Control) แต่รูปแบบ SCML จะใช้ภาวะผู้นำร่วม(Shared leadership)ของกลุ่มไปเสริมสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำของผู้เรียนเป็นรายบุคคล


4. มีการสร้างสภาวะทางอารมณ์เพื่อให้เกิดความยึดมั่นผูกพันขึ้นแก่ผู้เรียนด้วยค่านิยมต่าง ๆ เช่น ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) การกระทำสิ่งดีงามเพื่อผู้อื่นและสังคม โดยเฉพาะค่านิยมทางสังคมตามแนวคิด The 7 C’s Model เน้นการปฏิบัติในการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเอง (Self-awareness) อย่างชัดเจน เน้นเทคนิคการสร้างความไว้วางใจ (Trust) พัฒนาปรีชาสามารถของผู้เรียนในการเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิผล สร้างจิตสำนึกของการเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น (Serve others) อย่างชัดเจน เน้นเทคนิคการสร้างความไว้วางใจ (Trust) พัฒนาปรีชาสามารถของผู้เรียนในการเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิผล พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มโดยยึดหลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีงามขึ้นในสังคมนั้น เป็นต้น


5. รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือ SCML ได้ถูกนำไปใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาวะผู้นำ และการฝึกภาวะผู้นำของฝ่ายกิจการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของสหรัฐ ตลอดจนในหน่วยงานองค์การทั้งภาคเอกชนและภาครัฐอย่างกว้างขวางมากรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน


6. ผู้อ่านสามารถประเมินภาวะผู้นำตนเองตามรูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จากจากเครื่องมือบน website: http://suthep.ricr.ac.th ที่ Leadership # 25






อ้างอิง


www.reslife.cmich.edu/leadership


http://involement.frostburg.edu/leadership


http://www.norris.northwestern.edu/csi_wildcat.php


http://orl.syr.edu/leadershipinitiatives/socialchange.htm


http://www.pvc.maricopa.edu/studentlife/social.htm


http://www.bruinleaders.ucla.edu/mission.htm


http://www.studentorg.umd.edu/plc/socialchange.htm


http://www.education.uts.edu.au/courses/subjects/edu_soc_chng.htm


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น