วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ภาวะผู้นำ : พลังในการบริหาร

ภาวะผู้นำ : พลังในการบริหาร
เขียนโดย อ.สุมนา เสือเอก  
       องค์กรหรือกลุ่มคนที่สามารถ ขับเคลื่อนภาระกิจของตนไปได้ด้วยดี จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูง โดยปกติผู้นำมักเป็นผู้บริหารในองค์กรนั้น แต่ในบางกรณี ผู้นำอาจไม่ใช่ผู้บริหาร แต่เป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำ สมาชิกในองค์กรรวมทั้งผู้บริหารยอมรับการนำ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ภาระกิจที่พึงประสงค์ลุล่วงไปได้ ในเมื่อภาวะผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร ทั้งผู้นำและผู้ตามจึงควรให้ความสนใจเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เกิดภาวะการนำและการตามที่มีประสิทธิภาพ เอื้ออำนวยให้เกิดผลสำเร็จต่อองค์กรซึ่งหมายถึงความสำเร็จของสมาชิกทุกคน
ผู้นำคือใคร ภาวะผู้นำคืออะไร
       หากให้ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ผู้นำ (Leadership) หมายถึง "คนที่ไปข้างหน้า คนที่ออกหน้า หรือคนที่เริ่มต้นโดยมีผู้อื่นตาม" ซึ่งแสดงว่า ถ้าไม่มีผู้อื่นตาม แม้จะออกหน้าไปก็หาใช่ผู้นำไม่ เช่นนี้ ผู้นำคือ ผู้ที่ออกหน้า โดยมีสมาชิกในกลุ่มหรือในองค์กรตามไป
ภาวะผู้นำ (Leadership) จึงหมายถึง ความสามารถของผู้นำที่จะทำให้สมาชิกในกลุ่มหรือในองค์กรตามการนำนั้นไป การที่จะทำให้คนจำนวนมากซึ่งมีความเป็นเอกัตบุคคล (Individuality) สูง ตามการนำไปด้วยความสมัครใจและด้วยความศรัทธาในการนำนั้น ความสำคัญอยู่ที่ ความสามารถในการจูงใจ อันเกิดจากภาวะผู้นำของผู้นำนั้นเอง

อำนาจ (Power) ที่ก่อให้เกิดภาวะผู้นำ
       ภาวะผู้นำมักจะเกิดจากอำนาจ (Power) ซึ่งมีที่มาจากเหตุต่างๆ ทั้งจากเหตุภายนอกและเหตุภายในของผู้นำเอง ดังต่อไปนี้
  1. อำนาจที่มาจากกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ (Legitimate Power) ซึ่งควบคู่มากับตำแหน่งที่ได้รับ เช่น ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ อำนาจเหล่านี้ทำให้สมาชิกยอมรับในการจัดการกับองค์กรของผู้บริหารเพราะมีกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รองรับ
  2. อำนาจการให้ความดีความชอบ (Reward Power) เป็นอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้บริหารสามารถให้ความดี ความชอบแก่สมาชิกได้ตามกรอบที่กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับกำหนด และตามดุลยพินิจของผู้บริหาร
  3. อำนาจในการลงโทษ (Coercive Power)เป็นอำนาจที่มาจากอำนาจตามกฎหมายเช่นกัน เพื่อให้ผู้บริหารสามารถลงโทษสมาชิกได้ตามควร แก่กรณีซึ่งระบุไว้ในกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่มี
  4. อำนาจจากความเป็นผู้ชำนาญการ (Expert Power) เป็นอำนาจอันเกิดจากความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะด้านของผู้นำ ซึ่งผู้อื่นเชื่อถือ สามารถใช้ความชำนาญการนั้นช่วยเหลือผู้อื่นหรือช่วยเหลือองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้
  5. อำนาจในการเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูล (Information Power) ได้แก่การที่ผู้นำเป็นแหล่งข่าวสารข้อมูลในด้านต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติงานของสมาชิกหรือ การดำเนินการขององค์กร สมาชิกต้องอาศัยข้อมูลดังกล่าวซึ่งผู้นำมีมากกว่าไปใช้ในการดำเนินงานตามภาระหน้าที่ให้เกิดผลดีตามวัตถุประสงค์
  6. อำนาจในการเป็นผู้ที่อ้างอิงได้ (Referent Power) เป็นอำนาจที่ได้มาจากความนิยม ยกย่อง ความศรัทธา ในความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และคุณธรรมความดีในด้านต่างๆ ที่สังคมยอมรับว่าผู้นำที่ดีจะพึงมี บุคคลทั่วไปสามารถนำไปอ้างอิงเป็นแบบอย่างได้โดยสนิทใจ

       เมื่อพิจารณาจากอำนาจต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดภาวะผู้นำทั้ง 6 ประการข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า อำนาจที่เกิดจากเหตุภายนอก คืออำนาจที่ได้มาจากกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคม ตามข้อ 1 ถึง 3 นั้น เป็นอำนาจที่ไม่สู้จะเกิดผลดีต่อการสร้างภาวะผู้นำด้วยการจูงใจสมาชิกได้มากนัก แต่จะเป็นการสร้างการนำด้วยการบังคับหรือจำยอมมากกว่าหากไม่มีอำนาจซึ่งเกิดจากเหตุภายในของผู้นำเองตามข้อ 4 ถึง 6 มาช่วยเสริม เฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตามข้อ 6 (อำนาจในการเป็นผู้ที่อ้างอิงได้) จะเป็นอำนาจที่ช่วยให้เกิดภาวะผู้นำในทางสร้างสรรได้เป็นอย่างมาก
       มีข้อควรได้รับการพิจารณามากมายที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภาวะผู้นำ (อำนาจ) ในตัวของผู้นำ เช่น ความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นผู้สามารถปรับฐานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีมนุษยสัมพันธ์เห็นคุณค่าของมนุษย์ กล้าหาญเด็ดเดี่ยว และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและต่องาน ความสามารถที่จะลดช่องว่างในองค์กรทั้งในด้านความรู้ความสามารถ ข้อมูลข่าวสาร และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ฯลฯ แต่ข้อสำคัญที่ช่วยเสริมให้เกิดอำนาจทั้งหลาย และให้มีการใช้อำนาจเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณทั้งตัวผู้นำ ผู้ตามและองค์กร น่าจะเป็นคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้นำ เฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อที่ว่า ไม่ควรทำงานเพียงด้วยเห็นว่าเป็นอาชีพ หรือเพื่อหาเงินหาเกียรติยศชื่อเสียงเท่านั้น แต่พึงทำงานด้วยจิตอันเป็นกุศล ปฏิบัติวิชาชีพให้เกิดกุศล ความเชื่อเช่นนี้น่าจะช่วยแปรภาวะผู้นำให้เป็นพลังในการบริหาร แปรภาวะผู้ตามให้เป็นพลังส่งเสริมตนเองและองค์กรได้อย่างไม่มีข้อสงสัย


บรรณานุกร
วิชัย จงอยู่สุข. ภาวะผู้นำ. วารสารกรมประชาสัมพันธ์ ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2544 หน้า 21-26
เย็นใจ ศรีวรรณบูรณ์. ผู้บริหารควรมีลักษณะผู้นำอย่างไร. วารสารเพิ่มผลผลิต ฉบับมิถุนายน - กรกฎาคม 2541 หน้า 61-66.
รศ.พิชัย เสนียมจิตต์. ภาวะความเป็นผู้นำทีประสบผลสำเร็จ. วารสารบริหารการศึกษาบัวบัณฑิต, ฉบับที่ 1 ปีที่ 4 หน้า 2-7
รศ.สุนทร โคตรบรรเทา. ภาวะผู้นำในองค์การการศึกษา. กรุงเทพฯ : ปัญญาชน, 2551.
วศิน อินทสระ. คุณธรรมของผู้บริหาร. เอกสารแนวคำบรรยายโครงการฝึกอบรมหลักสูงเตรียมผุ้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษา.
http://www.smc.ac.th/index.php?option=com_content&view=article&id=136:2012-11-05-03-29-19&catid=46:article&Itemid=73

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น